คกก.โรคติดต่อฯเห็นชอบ'ระบบจัดการในสถานที่กักกันโรค' ฝ่าฝืนมีโทษ

คกก.โรคติดต่อฯเห็นชอบ'ระบบจัดการในสถานที่กักกันโรค' ฝ่าฝืนมีโทษ

คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบ “นโยบายการกักกันโรคระดับชาติ” รองรับเปิดประเทศ กำหนดระบบการจัดการในสถานที่กักกันโรค10ข้อ   ใช้บังคับในทุกรูปแบบของการกักกันตัวเจ้าของ-ผู้เข้ากักกันฝ่าฝืนโดนโทษตามพรบ.โรคติดต่อ สูงสุด 20,000 บาท ส่วนลดวันกักตัวเหลือ10วันชงเข้าศบ

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563  ที่กระทรงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมเห็นชอย นายอนุทินกล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบ ร่างนโยบายการกักกันโรคในประเทศ (National Quarantine Policy) รองรับการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ 1.จัดให้มีระบบการกักกันโรค และสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เหมาะสมกับบริบทของการปฏิบัติงานและกลุ่มเป้าหมาย และเพียงพอทุกพื้นที่
       2.พัฒนากลไกการบริหารจัดการระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันโรคให้เป็นเอกภาพ ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด ที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และ3.เร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          กำหนดระบบการจัดการในสถานที่กักกันโรค 10 ข้อ ได้แก่ 1. สถานที่กักกันโรค ที่มีการจัดการสถานที่พัก พื้นที่ส่วนกลาง และสถานที่เฉพาะให้มีระบบการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค ทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.มีรับผิดชอบของแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ต้นทาง จนสิ้นสุดกระบวนการกักกันโรค ครบตามจำนวนวันที่กำหนด 3.มีการคัดกรอง ความผิดปกติทั้งด้านการเจ็บป่วยทางร่งกายและจิตใจ หรือผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient Under Investigation: PUI) 4.มีการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงน ประชาชนและชุมชนโดยรอบสถานที่กักกันโรค มีความปลอดภัยเช่น การจัดการขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ การจัดการน้ำเสีย ตามมาตรฐาน 5.มีบริการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตในสถานที่กักกันที่เพียงพอ เหมาะสม ทั้งการจัดการสถานที่ อาหาร น้ำดื่ม การรักษาความสะอาด การสื่อสาร รวมถึงการช่วยเหลือที่จำเป็น

          6.มีการรวบรวม จัดเก็บและส่งต่อข้อมูลทุกวันเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคที่ทันเหตุการณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปใช้บริหารเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 7.มีระบบการรายงานเหตุการณ์ต่อผู้บัญชาการเหตุการณ์ในระดับต่างๆ ทั้งด้านความปลอดภัย และด้านการป้องกันควบคุมโรคตามที่ทางราชการกำหนด 8.มีการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะในการปฏิบัติงานในสถานที่กักกันได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด 9.มีการตรวจประเมินสถานที่กักกันโรคตามมาตรฐานที่กำหนด และมีวิธีการตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อพบเหตุการณ์ และ10.มีการกำกับติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติอย่างสม่ำเสมอ โดยจะมีการเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19(ศบค.)รับทราบต่อไป
          นายอนุทิน กล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯเห็นด้วยในหลักการเรื่องการลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ10 วัน  เพียงแต่กำชับว่าในช่วงเวลา 4 วันที่ลดไปนั้น จะต้องมีมาตรการเสริม เช่น ระบบการติดตามตัวและการรายงานอาการตัวเองด้วยการวัดไข้ และช่วงเวลาดังกล่าวขอให้มีพฤติกรรมนิวนอมัลอย่างเคร่งครัด มีการใส้หน้ากากอนามัย และไม่ไปในสถานที่ที่พบปะกับคนจำนวนมากเป็นต้น ทั้งนี้ เดิมที่กรมควบคุมโรคจะมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของศบค.ในครั้งที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีกรณีการพบหญิงฝรั่งเศสติดโควิด19โดยตรวจเจอขณะเข้ารับการตรวจในรพ.ที่อ.เกาะสมุยจึงถอนจากศบค.ออกมาก่อน และจะนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป อย่างไรก็ตา ขอย้ำว่ามาตรฐานในการคัดกรองและตรวจหาเชื้อไม่ได้ลดลง
           สำหรับสถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบในขณะนี้ส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างประเทศ แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศบ้าง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่จากประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ต้นปี
 ทำให้เราสามารถควบคุมโรคได้ดี ตั้งแต่การตรวจคัดกรองอย่างละเอียด ทำให้ค้นพบเร็ว ควบคุมโรคได้ดี ทีมงานสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง ค้นหาเชิงรุกและตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างครอบคลุม สามารถป้องกันควบคุมไม่ให้มีการระบาดในวงกว้าง ภาพรวมในเวลานี้  ประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อสู้โควิด 19 ทั้งทรัพยากร เวชภัณฑ์ แล็บ ยา แพทย์พยาบาล ที่สำคัญไม่มีผู้ป่วยหนักในไอซียู และอัตราการเสียชีวิตต่ำมากน้อยกว่า2 %ทำให้ประชาชนมั่นใจได้

           “โจทย์สำคัญในวันนี้ คือการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจบนพื้นฐานความปลอดภัยประชาชน ช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งไทยยังต้องพึ่งพาต่างชาติ การเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติให้สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือการค้าการลงทุน จะช่วยให้เศรษฐกิจของเรากลับมาเดินหน้าอีกครั้ง เรื่องเศรษฐกิจสุขภาพเป็นนโยบายสำคัญทีจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยยังคงความปลอดภัยให้กับประชาชนและสังคมด้วย” นายอนุทินกล่าว


       ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการสั่งให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยต้องกักกันเพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19นั้น ดำเนินการภายใต้ประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19(ศบค.) แต่นโยบายการกักกันโรคระดับชาติที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบนี้ จะส่งผลให้กรมควบคุมไปดำเนินการออกประกาศ ระเบียบ ข้อปฏิบัติภายใต้พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ทั้งผู้ที่เป็นผู้ดำเนินการสถานที่กักกัน และผู้ถูกสั่งให้กักกันจะถูกเปรียบเทียบปรับตามพรบ.นี้ ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน โดยนโยบายฯนี้จะใช้กับการปฏิบัติของสถานที่กักกันทุกรูปแบบที่มีในประเทศไทย

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราการเปรียบเทียบตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  อาทิ  กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในการมาให้ข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ  คณะกรรมการด้านวิชาการ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ผิดครั้งที่  1 จำนวน 5,000 บาท ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป 10,000 บาท  กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานฯในการดำเนินการกักกัน หรือห้ามก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคแพร่ออกไป  ปรับ 6,000 -20,000 บาท และกรณีไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ปรับครั้งที่ 1 จำนวน 5,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 10,000 บาท ครั้งที่ 3 จำนวน 15,000 บาท และครั้งที่4เป็นต้นไป 20,000 บาท เป็นต้น