ประท้วงต้านโควิดสัญญาณเตือนสังคมป่วน

ประท้วงต้านโควิดสัญญาณเตือนสังคมป่วน

ประท้วงต้านโควิดสัญญาณเตือนสังคมป่วน ขณะที่การประท้วงต่อต้านมาตรการคุมเข้มของภาครัฐไม่ได้มีแค่ในอิตาลีในประเทศอื่นๆของยุโรปอย่างในสเปน สวิตเซอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็กก็มีประท้วงเรื่องนี้

เหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในเมืองตูริน ทางภาคเหนือของอิตาลี ที่ไม่พอใจมาตรการคุมเข้มของทางการเพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรคโควิด-19 จนส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคนด้วยกันนั้น เปรียบเหมือนสัญญาณเตือนที่บอกคนทั้งโลกว่า การประท้วงลักษณะนี้อาจจะเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆที่ประชาชนเกิดความรู้สึกถูกกดดันจนทนไม่ไหวจากมาตรการเข้มข้นต่างๆที่ภาครัฐนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดระลอกสองของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่

เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองตูริน บอกว่า ผู้ชุมนุมซึ่งมีประมาณ 2,500 คนออกมาประท้วงมาตรการคุมเข้มเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแยกเป็น 2 กลุ่มหลักๆคือกลุ่มเจ้าของร้านอาหารและธุรกิจขนาดเล็กที่ประท้วงอย่างสันติ ส่วนอีกกลุ่มเป็นแฟนบอลหัวรุนแรงของสโมสรยูเวนตุสและโตริโน ซึ่งจำนวนมากมีประวัติก่อคดีอาญา ผู้ประท้วงหัวรุนแรงพากันขว้างปาก้อนหินและขวดใส่ตำรวจ พร้อมทั้งจุดไฟเผาถังขยะ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาและจับกุมผู้ก่อเหตุวุ่นวายไป 10 คน

นอกจากการชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจการใช้มาตรการคุมเข้มของทางการที่เมืองตูรินแล้ว ยังมีการประท้วงมาตรการคุมเข้มของรัฐบาลในเมืองมิลาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมเช่นกัน

ทางการอิตาลีใช้มาตรการควบคุมทางสังคมครั้งใหม่ หรือที่เรียกกันว่ามินิล็อกดาวน์ โดยให้มีผลบังคับใช้ทั่วอิตาลีตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 24 พ.ย.นี้เป็นอย่างน้อย

ด้านกระทรวงสาธารณสุขของอิตาลี รายงานสถิติเกี่ยวกับโรคโควิด-19 วานนี้ (28ต.ค.)ว่าในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุดมีผู้ป่วยใหม่ 21,994 คน ถือเป็นสถิติรายวันสูงสุด นับตั้งแต่มีการพบผู้ติดเชื้อคนแรก เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา เพิ่มจำนวนผู้ป่วยสะสมเป็นอย่างน้อย 564,778 คน รักษาหายแล้ว 271,988 คน เพิ่มขึ้น 3,362 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 37,700 คน เพิ่มขึ้น 221 คน

แต่การประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจมาตรการคุมเข้มของภาครัฐไม่ได้มีแค่ในอิตาลีเท่านั้น ในประเทศอื่นๆของยุโรปก็มีการชุมนุมประท้วงเช่นกัน ทั้งในสเปน สวิตเซอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก ขณะที่บางประเทศในยุโรป สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดยังไม่ดีขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการชุมนุมประท้วงที่สร้างความวุ่นวายแก่สังคมมากขึ้น

เช่นในฝรั่งเศส ที่ล่าสุด รัฐบาลฝรั่งเศสส่งสัญญาณให้ประชาชนเตรียมตัวกับมาตรการทางสังคมที่เข้มงวดมากกว่าเดิมหลังภายในวันเดียวมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 อีก 523 คน เป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา

กระทรวงสาธารณสุขของฝรั่งเศสรายงานสถิติเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุด ว่าสถิติผู้ติดเชื้อสะสมมีจำนวนอย่างน้อย 1,198,695 คน เพิ่มขึ้น 33,417 คน เพิ่มขึ้นมากถึง 60% เมื่อเทียบกับสถิติของวันอังคารที่ 20 ต.ค. ซึ่งพบผู้ป่วย 20,468 คน

ขณะที่สถิติสะสมของผู้ที่หายป่วยแล้วมีอย่างน้อย 112,716 คน เพิ่มขึ้น 1,369 คน อย่างไรก็ตาม สถิติสะสมของผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฝรั่งเศสมีจำนวนอย่างน้อย 35,541 คน เพิ่มขึ้น 523 คนภายในวันเดียว มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งฝรั่งเศสยังอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวด

นายกรัฐมนตรีฌ็อง กัสเต็กซ์ ยอมรับว่า ยังไม่สามารถควบคุมวิกฤติการแพร่ระบาดระลอกสองของโรคโควิด-19 และขอให้ทุกภาคส่วนในฝรั่งเศสเพิ่มความร่วมมือเพื่อปกป้องชีวิตของทุกคน พร้อมทั้งมองว่าอาจมีการบังคับใช้มาตรการเพิ่มเติม นอกเหนือจากเคอร์ฟิวที่ตอนนี้มีผลต่อประชากร 2 ใน 3 ของทั้งประเทศ ซึ่งสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุแห่งชาติของฝรั่งเศสเตรียมออกอากาศคำแถลงของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ในคืนวันพุธที่ 28 ต.ค. นี้ตามเวลาท้องถิ่น

เยอรมนีก็เป็นอีกประเทศในยุโรปที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงอยู่ โดยเมื่อวันที่ 24 ต.ค. มีรายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตจากสาเหตุการติดเชื้อโควิด-19ในเยอรมนีทะลุ 10,000 รายแล้ว

สถาบันโรเบิร์ต คอช ระบุว่า ปัจจุบันเยอรมนีมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่เสียชีวิตรวมกว่า 10,003 ราย และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศที่ 418,005 ราย

“โลธาร์ วีเลอร์” ประธานสถาบันโรเบิร์ต คอช ยอมรับว่าเยอรมนีกำลังประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ประชาชนในประเทศปฏิบัติตามกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ซึ่งคำพูดของวีเลอร์สอดคล้องกับแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพร้อมทั้งขอความร่วมมือให้พลเมืองลดการติดต่อ สัมผัส และทำกิจกรรมทางสังคม รวมถึงขอให้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

แต่นายแพทย์ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) มองแง่ดีว่า ยุโรปเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ก็จริง แต่เชื่อว่ายุโรปยังสามารถควบคุมการระบาดได้ และคาดว่าจะไม่ต้องกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ

นายแพทย์ไรอัน บอกว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 46% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกและผู้เสียชีวิตเกือบหนึ่งในสามอยู่ในทวีปยุโรป ทวีปยุโรปจึงเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดอย่างชัดเจนในขณะนี้ และเตือนว่าประเทศต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับไวรัส ที่อาจต้องมีมาตรการที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มความเข้มงวดของคำสั่งการเดินทางและการกักตัวอยู่บ้าน

กาลเวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่า การประท้วงเพื่อต่อต้านมาตรการของภาครัฐในหลายประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะรุนแรงและบานปลายสร้างความปั่นป่วนในสังคมมากน้อยแค่ไหน หรือเกิดการปะทะกันของตำรวจและผู้ชุมนุมที่รุนแรงจนกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด