ย้อนรอยเส้นทางธรรม สายพระป่า'วัดหนองป่าพง'

ย้อนรอยเส้นทางธรรม สายพระป่า'วัดหนองป่าพง'

เหตุใด"วัดหนองป่าพง" จึงเป็นต้นแบบของพระป่าทั่วโลก ด้วยวัตรปฎิบัติที่เคร่งครัดสายวิปัสสนากรรมฐานที่มีต้นแบบจาก"พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต"

นับเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ ณ วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี (วัดที่มิใช่วัดหลวง)

และครั้งนี้พระองค์ทรงสนทนาธรรมกับ พระราชภาวนาวิกรม เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง และพระเทพพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร)และเสด็จทอดพระเนตรภายในพิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร(หลวงปู่ชา สุภัทโท)

 

160387442981

           ทรงกราบหุ่นขี้ผึ้งพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)ในพิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง 

ย้อนรอยเส้นทางธรรม

สำหรับสายธรรม ต่างรู้ดีว่า วัดหนองป่าพง ที่สร้างโดยหลวงปู่ชา สุภัทโท เป็นสถานปฎิบัติธรรม ซึ่งเป็นต้นแบบของวัดป่ากว่า 100 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

หลวงปู่ชาเป็นพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน หนึ่งในลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระวิปัสสนาจารย์ที่สำคัญ ต้นแบบพระป่าสายวิปัสสนาที่ศึกษาธรรมอย่างจริงจัง เพื่อค้นหาแก่นธรรมของพระพุทธเจ้า

พระอาจารย์มั่น มีลูกศิษย์สายวิปัสสนากรรมฐานทั่วประเทศ อาทิ พระอาจารย์ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู,พระอาจารย์แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่,พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ,พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากแป้ง จ.เลย ฯลฯ

เส้นทางธรรมของพระอาจารย์มั่นก็ไม่ธรรมดา ท่านเคยอุปสมบทศึกษาธรรมกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ทั้งสองเเคยดินธุดงค์ร่วมกันทั้งในอีสานและลาว เพื่อปลีกวิเวกบำเพ็ญธรรมในป่า และตลอดเส้นทางที่ท่านไปจำพรรษาหรือปฏิบัติธรรม มักจะมีภิกษุมาขอเป็นลูกศิษย์

พระอาจารย์วิริยังค์ ลูกศิษย์คนหนึ่งของพระอาจารย์มั่น บันทึกไว้ว่า "พระอาจารย์มั่นเป็นศิษย์ที่ไม่กลัวครู หมั่นเข้าหาครู เฝ้ารบเร้าให้พระอาจารย์เสาร์สอนธรรมอยู่ร่ำไป นานๆ เข้า อาจารย์ก็ชักจะหมดภูมิ เพราะท่านเรียนรู้ทางธรรมได้อย่างรวดเร็ว"

แตกฉานทางธรรม

ทำไมพระอาจารย์มั่นถึงศึกษาและปฏิบัติธรรมได้แตกฉาน จนกลายเป็นต้นแบบของพระปฏิบัติกรรมฐาน หรือ พระธุดงค์กรรมฐาน เพราะข้อวัตรปฏิบัติที่วางไว้ ก็เพื่อกำจัดกิเลสในตัวเอง ภิกษุต้องใช้ชีวิตเรียบง่าย มีปัจจัยจำกัด และมุ่งเน้นความสงบ เพื่อบำเพ็ญภาวนาสมถะและวิปัสสนากรรมฐานจนดับทุกข์

ดังนั้นพระกรรมฐานจะใช้ผ้าบังสุกุลเพียง 3 ผืน ,ฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่นั่งแล้วไม่ฉันอีก ฉันเฉพาะในบาตร ฯลฯ ซึ่งพระป่าจะถือปฎิบัติอย่างเคร่งครัดจนถึงทุกวันนี้

ว่ากัน พระอาจารย์มั่น เป็นคนมีวิริยะขยันและอดทนในการปฏิบัติธรรม พร้อมที่จะตายระหว่างการภาวนา ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ท่านปลีกวิเวกในป่าเขาและถ้ำ และเคยออกธุดงค์ในลาว พร้อมพระอาจารย์เสาร์ และสามเณร และในอดีตภิกษุทั้ง 3 รูป เคยป่วยเป็นไข้ป่าจนแทบเอาตัวไม่รอด

“แม้จะตายขอให้ตายด้วยการภาวนา บริกรรมพุทโธๆๆ กายนี้เป็นที่อาศัยของจิต ถ้าจิตมัวยึดกลายเป็นตนอยู่เมื่อใด ย่อมเป็นทุกข์ เมื่อหมดหนทางไม่มีใครช่วย เราก็กำหนดจิตให้สงบเป็นหนึ่ง จนเหงื่อไหลเหมือนรดน้ำ ไข้หาย และนี่คือ การระงับอาพาธด้วยธรรมโอสถเป็นครั้งแรกของเรา” พระอาจารย์มั่น เล่าไว้

160387472690

วางแนวทางกรรมฐาน

พระอาจารย์มั่น ได้วางรากฐานการปฏิบัติธรรมให้กับลูกศิษย์ ท่านเคยแนะนำลูกศิษย์ มีการบันทึกไว้ว่า "ผู้ต้องการพ้นทุกข์จริงๆ ต้องไม่หลงใหลในความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างความสงบ ไม่ว่าญาณระลึกชาติ ญาณบอกเหตุการณ์ในอนาคต และการรู้วาระจิตความนึกคิดของผู้อื่น ถ้าหลงติดในญาณเหล่านั้น จะทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม"

แนวทางการปฏิบัติสายพระอาจารย์มั่น จะเน้นเรื่องขันธวัตร 14 ก็คือ ระเบียบวิธีปฏิบัติในสังคมภิกษุ อาทิ  วิธีปฏิบัติของลูกศิษย์ต่ออุปัชฌาย์ ต้องเข้าไปรับใช้ถวายน้ำล้างหน้า บ้วนปาก ช่วยนุ่มห่มจีวรให้ ซักผ้า ล้างบาตร ทำความสะอาดกุฏิ เอาใจใส่ในยามอาพาธ ฯลฯ ลูกศิษย์ต้องอ่อนน้อมต่อครูบาอาจารย์ ซึ่งวัตรปฏิบัติเหล่านี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนที่พระอาจารย์มั่นจะมรณภาพ ท่านกล่าวถึงการปฏิบัติธรรมในอนาคตไว้ว่า

"ต่อไปการทำกรรมฐานของพระภิกษุสามเณรจะรุ่งโรจน์ แต่จะไปรุ่งโรจน์ในเมือง การธุดงค์จะเบาบางลง เพราะหาป่าเขาวิเวกยากยิ่งขึ้น ประกอบกับความไม่เข้าใจของการธุดงค์ที่จะทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง แต่จะธุดงค์พอเห็นเหมาะก็สร้างวัด เพื่อเป็นแหล่งบำเพ็ญสมณธรรมตามประเพณีเท่านั้น เพราะแต่ละแห่งต้องการพระเพื่อสั่งสอนประชาชน จึงเกิดวัดป่ามากขึ้น"

พระอาจารย์มั่นมองการณ์ไกลในเรื่องการเผยแพร่พุทธศาสนา แม้ท่านจะปฎิบัติธรรมในป่าเขาและจำพรรษาในวัดภาคอีสานเป็นหลัก ช่วงที่จำพรรษาวัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนครกว่า 4 ปี ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายที่ท่านวางแผนในการปฎิบัติธรรมให้ลูกศิษย์ และเป็นช่วงที่ท่านชราภาพและอาพาธ

และในช่วงที่หลวงปู่ชาในวัย 40 กว่าๆ มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น มีบันทึกไว้ว่า ท่านต้องเดินข้ามเขาหลายสิบวันเพื่อขอเป็นศิษย์ และพระอาจารย์มั่นมีญาณมองการณ์ไกลว่า

“ หลวงปู่ชาจะเผยแพร่ธรรมได้กว้างไกลในอนาคต ”

...............

ภาพจากเฟซบุ๊ควัดหนองป่าพง วารินชำราบ