"ส.ว."เสนอเปิดเวทีกลาง รับข้อเรียกร้อง "ม็อบ" ยกเว้นปฏิรูปสถาบัน

"ส.ว."เสนอเปิดเวทีกลาง รับข้อเรียกร้อง "ม็อบ" ยกเว้นปฏิรูปสถาบัน

การอภิปรายรัฐสภา มาตรา 165 สมาชิกรัฐสภามีข้อเสนอหลากหลายแนวทางเพื่อให้รัฐบาลรับไปปฏิบัติ ล่าสุดพบข้อเสนอทำประชามติเพื่อหาทางออก แทนการยุบสภาฯเลือกตั้งใหม่

     เมื่อเวลา 12.00 น. บรรยากาศการอภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ลุกอภิปรายเพื่อแสดงความเห็นและเสนอแนะต่อปัญหาทางการเมือง ใน 3 ประเด็นที่รฐบาลนำเสนอ โดยนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายให้ทำประชามติสอบถามประชาชนช่วงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) วันที่ 20 ธันวาคม 2563 ต่อการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หากนายกฯ ไม่เลือกวิธีทางจะลาออกจากตำแหน่งด้วยตนเอง  เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้บริหารประเทศหรือไม่ ขณะที่หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลจะร่วมกอดคอจนเรือจมหรือกระโดดออกจากเรือ เพื่อช่วยประชาชนรักษาระบอบประชาธิปไตย
160369274431
 
      ขณะที่นายสมชาย แสวงการ  ส.ว. อภิปรายว่าถึงข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา ต่อรัฐบาลด้วยว่า จัดเวทีทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อหาทางออกประเทศ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน, เร่งชี้แจงองค์กรระหว่างประเทศต่อการแก้ปัญหาการชุมนุม, เร่งจัดการข่าวเท็จและข้อมูลที่บิดเบือนผ่านโซเชียลมีเดีย, สมาชิกรัฐสภาร่วมปฏิรูปการเมือง,กฎหมาย, การศึกษา, เศรษฐกิจฐานรากและความเหลื่อมล้ำ, เปิดเวทีกลางให้ผู้ชุมนุมแสดงความเห็นตามเสรีภาพแทนชุมนุมบนถนน เช่น พื้นที่สนามกีฬาแห่งชาติ, มหาวิทยาลัย , เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาที่ไม่คำนึงถึงแรงกดดันนอกสภา ,นายกฯ​ ไม่ควรลาออก เพราะนายกฯ มาตามระบบที่สภาฯ เลือกและส.ว.ให้ความเห็นชอบ  และเร่งงานปฏิรูป และหากข้อเสนอที่กล่าวไม่สำเร็จ ขอให้ใช้ช่องทาการทำประชามติที่ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล เพื่อเสนอทางออกให้กับประเทศ ซึ่งไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปพิจารณาแก้ปัญหาตามกระบวนการของกฎหมาย จากนั้นนายกฯ​จะลาออกหรือไม่เป็นดุลยพินิจ
      "หากนายกฯ​ลาออก หรือ ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ ว่า  บุคคลที่จะได้รับการเลือกและถูกเลือกในรัฐสภา ยังเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย , คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพล.องประยุทธ์ ที่พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรี และกรณีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ต้องยอมรับว่าแม้สภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่ แต่วุฒิสภายังอยู่และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ ขณะที่ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันนั้นมีสิ่งที่ตนไม่สบายใจ เพราะอาจนำข้อเสนอ 10ข้อจากทางโซเชียลมีเดียเข้ามาดำเนินการ และขอให้ผู้ชุมนุมยกเลิกการเรียกร้อง ขณะที่ประเด็นการเมือง การยุบสภา หรือนายกฯ ลาออกหรือไม่ควรใช้เวทีรัฐสภาดำเนินการ" นายสมชาย อภิปราย 
 
       จากนั้น นายชวน กล่าวกับที่ประชุมว่าการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเป็นความเห็นอิสระ แต่ฐานะประชาชนต้องตระหนักถึงหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 ว่าด้วยการพิทักษ์ รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยสมาชิกรัฐสภาสามารถใช้สิทธิได้เต็มที่ ทั้งทางลบและทางบวก อย่างไรก็ตามจากการเข้าชื่อเพื่ออภิปรายขณะนี้พบว่า ทั้งฝ่ายค้าน และฝั่ง ส.ว. หมดการเสนอชื่ออภิปราย หากจะเสนอชื่อเพิ่มเติมสามารถทำได้.