ไทยพบผู้ติดโควิด19เพิ่ม 1ราย เจอหลังพ้นระยะกักตัวในASQ

ไทยพบผู้ติดโควิด19เพิ่ม 1ราย เจอหลังพ้นระยะกักตัวในASQ

สธ.รายงานพบผู้ติดโควิด 1 ราย หญิงชาวฝรั่งเศส ตรวจเจอเชื้อหลังกักกันครบ14วัน มีโอกาสติดเชื้อในไทย เร่งสอบสวนโรคเพิ่มเติมก่อนสรุปชี้ชัด เบื้องต้นผู้ใกล้ชิด 2 รายไม่พบเชื้อ ติดตามผู้สัมผัสเพิ่มอีก 70 ราย

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม2563 ที่กรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)แถลงข่าวสถานการณ์โควิด19ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 รายที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากตรวจพบติดเชื้อหลังจากการกักกันในสถานที่กักกันทางเลือกที่รัฐกำหนด(Alternative State Quarantine:ASQ)ครบ 14 วันแล้ว ขณะกำลังดำเนินการสอบสวนโรคโดยละเอียด


ส่วนสถานการณ์ที่อ.แม่สอด จ.ตาก หลังจากที่มีการตรวจพบการติดเชื้อของคนที่อยู้ในชุมชนเป็นสามีภรรยา 2 ราย และคนในครอบครัว 3 ราย รวม 5 ราย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563นั้น ขณะนี้ผ่านมา 10 วันแล้วยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม โดยมีการตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงในอ.แม่สอดกว่า 8,600 คนทั้งชุมชุนเมียนมา ชุมุชนไทย ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ อาสาสมัคร รวมถึง มีการเฝ้าระวังเชิงรุกใน3อำเภอ คือ แม่ระมาด ท่าสองยาง และอุ้มผางกว่า 800 รายผลรายงานเป็นลบแล้ว 298 ราย ที่เหลือรอผลการตรวจหาเชื้อ และจากการประเมินผลจากการค้นหาผู้ติดเชื้อ มาตรการต่างๆที่จ.ดำเนิน และการให้ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่คงมาตรการป้องกันต่างๆไว้ได้ดี จึงถือว่าสถานการณ์ในจ.ตากอยู่ภายใต้การควบคุมสถานการณ์แล้ว เบาใจได้ คาดว่าคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน จะมีการประชุมและสามารถผ่อนปรนมาตรการบางอย่างต่อไป


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป คร. กล่าววว่า สำหรับกรณีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบหลังพ้นระยะกักกัน 14 วันนั้น เป็นหญิงชาวฝรั่งเศส อายุ 57 ปี เดินทางถึงไทยพร้อมสามีและลูชายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 และเข้าสู่ASQในจ.สมุทรปราการ ระหว่างกักกันมีการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งในวันที่ 3 และ 11 ตุลาคม ไม่พบการติดเชื้อ เมื่อครบ14วันจึงออกจากสถานที่กักกัน โดยวันที่ 15 ตุลาคม เดินทางไปสถานฑูตฝรั่งเศส จากนั้น เดินทางไปอ.เกาะสมุยด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ PG167โดยมีเพื่อนมารับด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปบ้านพักส่วนตัว วันที่ 17 ตุลาคม มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ ปวดกล้ามเนื้อ เดินทางไปบิ๊กซี และร้าน7-11 วันที่ 20 ตุลาคม ไปรพ.กรุงเทพสมุยด้วยรถยนต์ส่วนตัว มีการวัดไม่มีไข้ ความอิ่มตัวออกซิเจนปกติ เอ็กซเรย์ปอดปกติ เข้าพักในรพ.และเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อให้ผลเป็นบวก มีการติดเชื้อ จึงส่งเข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรครพ.เกาะสมุย
ทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด คือ สามีและลูกชาย ผลตรวจรอบแรกไม่พบติดเชื้อ แต่จะต้องมีการเฝ้าระวังต่อไป เพื่อนที่ไปรับที่สนามบิน อยู่ระหว่างการรอผล ผู้โดยสารในเที่ยวบินเดียวกันมายังอ.เกาะสมุย 10 รายและลูกเรือ 2 รายรวม12 ราย กำลังติดตาม ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ เป็นผู้ดูแลในรพ.21 รายที่มีการสวมชุดป้องกันอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังสังเกตอาการ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อรายนี้มีพฤติกรรมการป้องกันส่วนบุคคลที่ดี โดยสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อไปในสถานที่ชุมชน เช่น สถานฑูต หรือบนเครื่องบิน


"ผู้ติดเชื้อรายนี้มีโอกาสที่จะเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศไทยได้ เนื่องจากพบการติดเชื้อหลังเดินทางมาถึงไทยแล้ว 17 วันบวกกับผู้ติดเชื้อมาจากเมืองที่ไม่ได้มีการระบาดของโรคมากในประเทศฝรั่งเศส จึงต้องมีการเจาะเลือดเพิ่มเติมดูว่ามีภูมิคุ้มกันขึ้นหรือไม่ เพื่อให้ทราบว่ามีการติดเชื้อมานานแล้วหรืออยู่ในช่วงเวลาใด และดูตัวเชื้อเปรียยเทียบระหว่างเชื้อที่พบที่ฝรั่งเศสและไทย รวมถึง ทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่ASQในจ.สมุทรปราการและเก็บตัวอย่างบุคลากรส่งตรวจหาเชื้อรวม 40 รายด้วย จะต้องมีการสอบสวนโรคโดยละเอียดอีกครั้งจึงจะสามารถสรุปได้ว่ารายนี้ติดเชื้อจากที่ไหน เพราะระยะฟักตัวของโรคที่นานสุดอยู่ที่ 14 วัน แม้ที่ผ่านมามีรายงานพบหลังจากนั้นแต่น้อยมากๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าการควบคุมโรคได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างรวดเร็วและยังไม่มีความผิดปกติ ยังไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นรายที่2"นพ.โสภณกล่าว


นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้พื้นที่อ.เกาะสมุยมีการทำงานที่รวดเร็ว มีความพร้อมในการรับสถานการณ์ เมื่อมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น 1 รายก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในการดำเนินการป้องกัน ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด


ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีผู้ติดเชื้อรายนี้จำเปฌนต้องมีการพิจารณาเพิ่มระยะเวลาการกักตัวมากกว่า 14 วันหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการระบาดในนานาประเทศและข้อมูลของประเทศไทยตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่า การกักตัว 14 วันเพียงพอ และหลายประเทศได้ลดระยะเวลากักตัวลง และมีการเพิ่มมาตรการติดตามผู้ที่พ้นระยะกักตัวพบการติดเชื้อน้อยมากๆ หากจะต้องเพิ่มมาตรการก็จะต้องเป็นเรื่องการติดตามผู้ที่พ้นระยะกักกัน


ต่อข้อถามจะมีผลต่อการพิจารณาการปรับลดวันกักตัวเหลือ 10 วันที่กำลังจะดำเนินการหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การลดวันกักตัวเหลือ 10.วันผ่านการวิเคราะห์เชิงวิชาการจากทีมวิชาการ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และทีมที่ปรึกษาวิชาการรมว.สธ.แล้วเห็นตรงกันที่จะดำเนินได้ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เท่ากับหรือว่าไทย เช่น จีน ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ เป็นต้น พร้อมกับมีมาตรการเสริมเพิ่มเติมในการติดตามตัวหลังพ้น้วลากักกัน