"เลขาฯชวน" เผย16พ.ย. ร่างแก้รธน.ฉบับประชาชน เข้ารัฐสภา

"เลขาฯชวน" เผย16พ.ย. ร่างแก้รธน.ฉบับประชาชน เข้ารัฐสภา

มีความเป็นไปได้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะบรรจุให้พิจารณาพร้อมกับ6ญัตติแก้รัฐธรรมนูญของส.ส. 16พฤศจิกายนนี้ เมื่อฝ่ายกฎหมายสภาฯ ยืนยันว่าพิจารณาไปพร้อมกัน

      นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ที่กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เป็นผู้ยื่น ว่า สภาผู้แทนราษฎร เปิดให้ผู้ที่ร่วมเข้าชื่อสนับสนุน ส่งจดหมายคัดค้านการเข้าชื่อดังกล่าว จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน ทั้งนี้หลังจากครบกำหนด เชื่อว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะใช้เวลาตรวจสอบอีกเล็กน้อย ถึงความสมบูรณ์ของการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) จากนั้นจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ตามที่ข้อบังคับกำหนดให้บรรจุร่างแก้ไข ภายใน 15 วัน  อย่างไรก็ตามจากการให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ตรวจสอบการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่าสามารถนำเข้าสู่วาระได้พร้อมกับ ญัตติของแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ญัตติที่ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและส.ส.พรรครัฐบาลเสนอก่อนหน้านี้ แม้รัฐสภาจะพิจารณาไปแล้ว แต่ยังไม่ลงมติ จึงถือว่านำไปพิจารณารวมกันได้ 
      นายสมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า มีความเป็นไปได้ว่า ภายในกลางเดือนพฤศจิกายน รัฐสภาจะพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนำเข้าสู่ที่ประชุม ตัวแทนของภาคประชาชนต้องนำเสนอเนื้อหาให้รัฐสภาพิจารณา ส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนหลังจากนั้น คือ การได้สิทธิแสดงความเห็นในชั้นกรรมาธิการ แต่ไม่มีสิทธิเป็นกรรมาธิการ เนื่องจากข้อบังคับกำหนดว่า กรรมาธิการ ที่พิจารณาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น
      เมื่อถามว่ากรณีที่กรรมาธิการต้องลงมติในเรื่องใด หากไม่มีตัวแทนประชาชนร่วมจะทำให้เสียสิทธิหรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวความเห็นส่วนตัวว่า ในกรรมาธิการประกอบด้วย ส.ส. และส.ว. ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้นเชื่อว่าการพิจารณาเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนใหญ่ของประชาชน
      ขณะที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ และแกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานเลขาธิการ ส่งจดหมายไปยังประชาชนที่ร่วมเข้าชื่อสนับสนุนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วตนได้แจ้งไปยังผู้ร่วมเข้าชื่อว่า ให้เก็บจดหมายจากสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ไว้เป็นที่ระลึก และไม่ต้องดำเนินการตอบกลับจดหมาย อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนจะเข้าสู่การประชุมรัฐสภาเมื่อใด แต่เข้าใจในขั้นตอน หากรัฐสภารับหลักการแล้ว จะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการ ซึ่งภาคประชาชนไม่มีสิทธิเข้าร่วมเพราะจำกัดเฉพาะสมาชิกรัฐสภา ดังนั้นภาคประชาชนต้องคอยติดตาม
      เมื่อถามว่า จะฝากให้ส.ส.ช่วยดำเนินการหรือไม่ เช่น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะแกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น  นายยิ่งชีพ กล่าวว่า จะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ เพราะตนไม่ปรารถนาจะฝากประเด็นหรือความเห็นใดๆ ให้ส.ส.ช่วยเจรจาหรือช่วยพูดได้.