สัญญาณการส่งออกไทยฟื้น 'สรท.'คาดไตรมาส 1 ปี 64 กลับมาบวก

สัญญาณการส่งออกไทยฟื้น 'สรท.'คาดไตรมาส 1 ปี 64 กลับมาบวก

“พาณิชย์” ส่งสัญญาณส่งออกฟื้นตัว เผย ก.ย.ติดลบ 3.86% ดีขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3 คาดทั้งปีติดลบ 7% ชี้ จับตาปัจจัยเสี่ยงโควิด เลือกตั้งสหรัฐกระทบค่าเงินบาท สรท.คาด 2 เดือนสุดท้ายติดลบน้อยลง ลุ้นไตรมาส 1 ปีหน้ากลับมาบวก

การส่งออกของไทยในเดือน ก.ย.2563 มีมูลค่า 19,621 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.86% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปับปีที่แล้ว ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,391 ล้านดอลลาร์ ลดลง 9.08% เกินดุลการค้า 2,230 ล้านดอลลาร์

เมื่อรวม 3 ไตรมาส (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 172,996 ล้านดอลลาร์ ลดลง 7.33% การนำเข้ามีมูลค่า 152,372 ล้านดอลลาร์ ลดลง 14.64% เกินดุลการค้ามูลค่า 20,623 ล้านดอลลาร์

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลืมชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.คาดว่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2563 จะติดลบน้อยลง ซึ่งดูจากการส่งออกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกของไทยติดลบต่ำกว่า 10% เทียบกับไตรมาส 2 ที่ติดลบสูงกว่า 10% คาดว่าจากนี้น่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็น 

รวมทั้งมอบว่าไตรมาส 1 ปี 2563 อาจจะกลับมาเป็นบวก แม้ว่าบางประเทศจะมีการระบาดของโควิด-19 รอบสอง แต่การค้าน่าจะกลับมาได้ ซึ่งมีการเปิดตัวสินค้าใหม่เพราะสินค้าบางตัวจำเป็นต้องมีการชิมรสและมีการอธิบายคุณลักษณะสินค้า เช่น อาหาร ก็ยังมีอุปสรรคเนื่องจากไม่สามารถจัดงานแสดงสินค้าได้ และไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้เหมือนปกตินอกจากนี้คงต้องรอลุ้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถ้าหากออกมาเร็วก็เป็นผลดี สามารถเปิดประเทศ เดินทางได้

“การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ต้องรอดูนโยบายด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีผลต่อการค้าโลกในระยะยาว” นายวิศิษฐ์ กล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกรายเดือนของไทยติดลบน้อยลง ถือเป็นการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดย มิ.ย.ติดลบ 23.17% เดือน ก.ค.ติดลบ 11.37% และเดือน ส.ค.ติดลบ 7.94% ซึ่งเป็นสัญญาณดีเพราะเป็นการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้ามากกว่าดีจากการส่งออกทองคำ 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น มาจากการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกหลายกลุ่มที่ส่งออกติดลบน้อยลง รวมทั้งสินค้าหลายรายการเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้น โดยมีสินค้า 3 กลุ่มหลัก ที่ส่งออกเติบโตได้ดี คือ สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหารและอาหารสัตว์เลี้ยง 

สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง

ทั้งนี้ สินค้าหลายตัวยังคงส่งออกได้ลดลง เช่น น้ำตาลทราย ข้าว ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และทองคำ

นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดสำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในหลายตลาดปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า รวมทั้งหดตัวในอัตราลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงการทยอยฟนตัวของอุปสงค์จากประเทศคูคา หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวมากขึ้น

ตลาดสหรัฐอเมริกา การส่งออกในเดือน ก.ย.ถือว่าขยายตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 19.7% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และรถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัว 7.4%

ตลาดจีน กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ที่ 6.9% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัว 3.7%

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยถือว่าฟื้นตัวอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นถือว่าติดลบน้อยลง โดยการส่งออกไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะส่งออกได้มูลค่า 56,000 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6% ทำให้ยอดรวมทั้งปี 2563 จะส่งออกได้มูลค่า 228,900 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7% และติดลบไม่ถึง 2 หลัก ตามประมาณการณ์เดิม 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ 

1.การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในเมียนมาที่จะกระทบต่อการค้าชายแดนในระยะสั้น รวมถึงการระบาดในยุโรปที่บางประเทศมีการล็อคดาวน์อีกครั้ง แต่ไม่กระทบการส่งออกทันที แต่อาจกระทบช่วงไตรมาสแรกปี 2564

2.นโยบายสหรัฐหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่จะต้องติดตามว่าสหรัฐจะใช้วิธีไหนกับจีน เพราะไม่ว่าใครจะได้รับการเลือกตั้งระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับนายโจ ไบเดน ซึ่งความขัดแย้งกับจีนก็จะยังคงมีอยู่ แต่วิธีการอาจจะไม่เหมือนกัน 

ทั้งนี้ ทรัมป์ มีโจทย์ที่ง่ายมีความชัดเจนในนโยบาย แต่ไบเดน ต้องตีโจทย์ว่าหากขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจะมีนโยบายอย่างไร ซึ่งอาจเน้นการหาพวกมากดดันเพื่อสร้างความสมดุลย์กับจีน มาตรการทางการค้าทั้ง GSP, AD, CVD, SG เรื่องการเจรจาการค้า โดยเฉพาะซีพีทีพีพี ว่าสหรัฐ จะกลับมาร่วมหรือไม่ รวมทั้งต้องติดตามการมีวัคซีนโควิด-19 หากใครมีก่อน เศรษฐกิจของประเทศนั้นก็จะฟื้นตัวแบบหัวกระสุนซินคันเซน เศรษฐกิจจะเทไปทางนั้น ไม่รู้ว่าฝั่งสหรัฐ ยุโรป หรือเอเชีย ที่จะเจอก่อน

ส่วนปัญหาการเมืองในประเทศ ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะเป็นเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศ แต่จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน โดยนักลงทุนจะใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณา ถ้านักลงทุนไม่มา การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศก็จะชะงัก และมีผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว