กทพ.เล็งทุ่ม 1 พันล้าน รื้อระบบจ่ายไฟทางด่วน

กทพ.เล็งทุ่ม 1 พันล้าน รื้อระบบจ่ายไฟทางด่วน

กทพ.เตรียมลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท จับมือ กฟภ.รื้อระบบจ่ายไฟทางด่วน ปรับใช้ LED และโซลาร์เซลล์ หวังลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าปีละ 50% แย้มปีนี้ลุ้นทำกำไร 5 พันล้านบาท

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการจัดการพลังงานในองค์กรด้วยระบบดิจิทัล (Digital Platform) ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยระบุว่า โครงการความร่วมมือนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันศึกษาการพัฒนาด้านธุรกิจพลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งปัจจุบัน กทพ. มีต้นทุนค่าไฟฟ้าส่องสว่างทางพิเศษ อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และศูนย์ควบคุมทางพิเศษประมาณ 168 ล้านบาทต่อปี ภายหลังดำเนินโครงการครั้งนี้จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายเหลือ 117 ล้านบาทต่อปี หรือ ลดลงประมาณ 51 ล้านบาทต่อปี

                นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ภายหลังลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะใช้เวลาเริ่มทำการศึกษาเส้นทางทางพิเศษและพื้นที่อาคารสำนักงานที่จะเริ่มนำร่องเปลี่ยนไฟฟ้า โดย กทพ. และ กฟภ. จะศึกษาเปลี่ยนแปลงระบบไฟฟ้า ใช้หลอดไฟ LED กับไฟนำทางส่งสว่างบนทางพิเศษ และจะใช้ระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) หรือโซลาร์รูฟท็อป ติดตั้งบนอาคารสำนักงานของ กทพ.และอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และศูนย์ควบคุมทางพิเศษ ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมจะเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนและติดตั้งระบบไฟฟ้านี้ จะศึกษาแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และเริ่มดำเนินการภายใน 2 ปีหลังจากนี้

“เบื้องต้นจะดำเนินการบนทางพิเศษของ กทพ. ทั้งหมด ซึ่งมีระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องหารือร่วมกับ กฟภ.ก่อน ซึ่งตั้งเป้าว่าในระยะแรกจะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าได้ 30% และในระยะยาวจะลดลงได้ประมาณ 50%”

 

ทั้งนี้เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะถือว่าเป็นโครงการที่คุ้มค่ามาก ซึ่งการลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะคืนทุนประมาณ 6-7 ปี อย่างไรก็ตาม เรื่องการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กรเป็นนโยบายหลักของตนที่จะเข้ามาเร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรม โดยคาดว่าปีนี้ กทพ. จะมีรายได้ลดลงไม่มาก แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะได้ใช้มาตรการเร่งลดต้นทุนในด้านต่างๆ ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีรายได้ 1.8 หมื่นล้าน มีกำไรประมาณ 5 พันล้านบาท

สำหรับนโยบายการขับเคลื่อนองค์กร ภายหลังจากที่ตนเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่า กทพ.นั้น ได้มุ่งเน้นทำงานผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร ซึ่งนอกจากความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นกับ กฟภ.ในการเปลี่ยนแปลง และติดตั้งระบบไฟฟ้าในโครงการทางพิเศษของ กทพ.ปัจจุบัน กทพ.ยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) เพื่อเสนอแนวทางการร่วมลงทุนพัฒนาทางพิเศษและทางด่วนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะเป็นการลงทุนระหว่าง กทพ.และกรมทางหลวง (ทล.) จัดเก็บค่าผ่านทางและจ่ายส่วนแบ่งรายได้ระหว่างหน่วยงานรัฐ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อรัฐสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะมีแผนชัดเจนในเร็วๆ นี้

ด้านนายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า โครงการความร่วมมือติดตั้งระบบไฟฟ้านี้ จะใช้เวลาการศึกษาประมาณ 3 เดือน ได้ข้อสรุปว่าจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ใดก่อน และดำเนินการในรูปแบบใด ซึ่งในส่วนของโซลาร์รูฟท็อป มีต้นทุนการติดตั้งเมกกะวัตต์ละ 30 ล้านบาท โดยหากจะติดตั้งต้องดำเนินการบนอาคารที่ทำการ หรือด่านเก็บเงิน ส่วนการติดตั้งเปลี่ยนหลอดไฟ LED ต้องลงไปศึกษาคุณสมบัติในการส่องสว่างของแสงว่าเพียงพอต่อความปลอดภัยในการขับขี่บนทางพิเศษหรือไม่ เพราะหากเสาสูงเกินอาจจะไม่สว่างครอบคลุมพื้นทางทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอก LED จะช่วยประหยัดค่าไฟได้ 50% โดยขณะนี้ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างเป็น LED บนถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และในเร็วๆ นี้ กฟภ.มีแผนร่วมมือดำเนินโครงการดังกล่าวกับกรมทางหลวง (ทล.) ด้วย