'สินเชื่อ' ของไอซ์แลนด์ เพื่อประคองเศรษฐกิจจาก 'โควิด19'

'สินเชื่อ' ของไอซ์แลนด์ เพื่อประคองเศรษฐกิจจาก 'โควิด19'

บทความจาก "วีระศักดิ์ โควสุรัตน์" สมาชิกวุฒิสภา เพื่อถอดโมเดลการประคองสภาวะเศรษฐกิจของ "ไอซ์แลนด์" ดินแดนทุ่งน้ำแข็งและภูเขาไฟ ที่พึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากกว่าไทย เขาทำอย่างไรบ้าง?

ด้วยเหตุที่ไอซ์แลนด์ ดินแดนที่เป็นทุ่งน้ำแข็งอันสวยงาม เป็นอีกหนึ่งประเทศของโลกที่พึ่งพา รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หนักหนากว่าไทย กล่าวคือ พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวถึง32.60% ต่อจีดีพี ในขณะที่ไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว ราว 21.60%

ดังนั้น ผมจึงค้นคว้าดูว่า ที่ไอซ์แลนด์ เขาทำโครงการอะไรกันบ้างเพื่อประคองสภาวะผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเขา

ไอซ์แลนด์เคยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ สงบสุขที่สุดของโลก (Global Peace Index) ได้อันดับหนึ่งมาติดต่อกันทุกปีตั้งแต่ปี2008 รวมทั้งปี2018 และ ปี 2019 ล่าสุดนี้ด้วย

อันดับรองๆ ลงไปคือนิวซีแลนด์ กับเดนมาร์กสลับกันไปมา

พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ครับ

รัฐบาลไอซ์แลนด์กำหนดว่า กิจการใดที่ถูกสั่งล็อคดาวน์ด้วยเหตุป้องกันโควิด19 มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุน ไม่เกิน 8 แสน ISK (โครนา)ต่อคน หรือไม่เกิน 2.4 ล้าน ISKต่อหนึ่งนิติบุคคล

อัตราแลกเปลี่ยนเงินไอซ์แลนด์คือ 1 ISK = 1สลึงไทยโดยประมาณ จริงๆคืออัตรา 1 ISK =0.22บาทไทย กล่าวคือไม่ถึงสลึงด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ คุณผู้อ่านอาจใช้เลข 4 หารตัวเลขเงิน ISK ก็จะได้เป็นค่าประมาณของเงินบาทของไทย นะครับ คือเอาพอเห็นภาพก็คงพอไหว

โครงการนี้บอกว่า สถาบันการเงินในไอซ์แลนด์ที่ได้บรรลุความตกลงกับธนาคารกลางไอซ์แลนด์ตามโครงการนี้ จะได้รับการประกันการคืนเงินจากธนาคารกลาง ในอัตราเท่ากับ 10% แน่นอน เมื่อสถาบันการเงินนั้นปล่อยสินเชื่อเร่งด่วนให้กิจการต่างๆ ในไอซ์แลนด์ในจำนวนไม่เกินยอดรายรับในปี 2019 ของบริษัทที่ได้สินเชื่อนั้น แต่ทั้งนี้ไม่คุ้มครองเลยไปถึงการปล่อยสินเชื่อเกิน 40 ล้าน ISK แก่ผู้ขอกู้แต่ละราย

โดยถ้าวงเงินสินเชื่อไม่ถึง 10 ล้าน ISK หรือ 2.5 ล้านบาทไทย รัฐจะการันตีให้ทั้ง100%ของสินเชื่อนั้น

ส่วนที่เกิน 10 ล้าน - 40 ล้าน ISK หรือตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทจนถึงไม่เกิน 10 ล้านบาทไทย รัฐบาลไอซ์แลนด์จะคุ้มครองให้ 85%

แบงค์ไม่ต้องกลัวถูกลูกหนี้เบี้ยวหรือเจ๊งไปก่อน

ส่วนระยะเวลาของสินเชื่อเพื่อประคองช่วงโควิดระบาดนี้ให้ระยะ 30 เดือน หรือสองปีครึ่ง ซึ่งเข้าเค้าว่า โลกน่าจะผ่านโควิดได้สำเร็จแล้วโดยมีอัตราดอกเบี้ยประมาณ 1%

กรณีที่มากกว่า 10 ล้าน ISK คือกู้เกิน 2.5 ล้านบาทไทยต่อรายนั้น ก็อาจให้ตกลงอัตราดอกเบี้ยต่างจากนี้ได้

..นี่ก๊อกแรก

ก๊อกถัดไป กำหนดว่า กิจการต่างๆ ยังสามารถขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อประคองกิจการโดยใช้กองเงินที่รัฐบาลตั้งเตรียมไว้อีก 3.5 พันล้าน ISK เป็นก๊อกที่สอง ประเทศไทยตั้งก๊อกสองนี้ไว้สูงกว่ามากคือ เกือบสองล้านล้านบาท (แต่กิจการฝ่ายไทยยังเข้าถึงได้น้อยมาก )

โดยไอซ์แลนด์ระบุว่า กิจการที่จะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในโปรแกรมนี้ต้องเป็นกิจการที่สูญเสียรายได้ไปกว่า 40% แล้วจากเหตุโควิด19 และน่าเชื่อว่า เมื่อโควิดหมดไป กิจการนี้จะสามารถทำกำไรได้ และสถาบันการเงินต้องได้เคยเข้าช่วยด้านสินเชื่อให้แก่กิจการนั้นๆ มาก่อนตามวิธีปกติแล้ว

แปลว่า รัฐช่วยการันตีลูกค้าเก่าของแบงก์นั่นเอง

สำหรับวงเงินที่จะขอรับการันตีจากรัฐบาลตามก๊อกสองนี้จะไม่เกินสองเท่าของอัตราค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของกิจการนั้นๆ และกิจการนั้นต้องมีค่าจ้างบุคลากรอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 25% ของรายจ่ายรวมทั้งปีของกิจการด้วย

แปลว่า รัฐบาลไอซ์แลนด์มุ่งจะประคองกิจการที่มีการจ้างงานคนเยอะๆ ก่อน

พวกกิจการที่ใช้หุ่นยนต์แทนคน ใช้โปรแกรมทำงานแทน หรือใช้ระบบออนไลน์มากโดยไม่ค่อยจ้างคน ยังไม่ใช่กิจการเป้าหมายตามโครงการนี้

การการันตีโดยรัฐตามก๊อกสองนี้ มีระยะเวลา 18 เดือน ถ้าเลยเวลา 18 เดือนเมื่อไหร่ สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อต้องรับความเสี่ยงต่อไปบริหารเอาเอง

สินเชื่อก้อนนี้ตั้งเป้าหมายให้กิจการนำไปจ่ายค่าแรงงาน จ่ายค่าเช่า จ่ายค่าประคองรักษาทรัพย์สินของกิจการเป็นสำคัญ และมีข้อกำหนดมิให้นำไปจ่ายเป็นเงินปันผล ห้ามซื้อหุ้น และข้อห้ามนี้ก็หมายรวมไปถึงบรรดาสถาบันการเงินที่เป็นผู้รับเงินทุนกองนี้ไปปล่อยสินเชื่อด้วย

ในการนี้ รัฐมนตรีคลังไอซ์แลนด์ ตั้งคณะกรรมการกำกับกระบวนการปล่อยสินเชื่อตามโครงการพิเศษนี้ ซึ่งกำหนดกติกาเพิ่มว่าให้เงินกองทุนนี้แบ่งปล่อยตามขนาดกิจการโดยนับจากจำนวนพนักงานที่ผู้กู้จ้างอยู่ คือ

1. กิจการที่จ้างพนักงานน้อยกว่า 20 คน

2. กิจการที่จ้างพนักงาน 20-100 คน

3. กิจการที่จ้างพนักงาน 100-250 คน

และ 4. กิจการที่จ้างพนักงานเกิน 250 คน

กล่าวคือเน้นอัดฉีดเพื่อประคองการมีงานทำของ "คน" ไม่ใช่มุ่งพยุงที่ จีดีพี นั่นเอง

เพราะจีดีพีบอกความมั่งมีของภาพรวม ไม่ใช่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

จีดีพีไม่สามารถตอบว่า มีความเหลื่อมล้ำมากหรือน้อย มีการกระจายโอกาสถึงคนตัวเล็กตัวน้อยและคนชายขอบที่มักถูกลืมหรือไม่

ไอซ์แลนด์เข้าอกเข้าใจดีว่า จะต้องปฏิรูประบบคิด ระบบกฎหมาย ระบบราชการให้รับมือโควิดให้ทัน สิ่งที่ทำรอบนี้จึงอาศัยการบัญญัติกฎหมายออกมาใหม่เพื่อรองรับ

ไปดูก๊อกที่สามและสี่กันครับ..

ก๊อกสาม คือ กิจการใดในไอซ์แลนด์ที่จดจัดตั้งก่อน 1 ธันวาคมของปี 2019 คือ ตั้งขึ้นประกอบการก่อนโควิดระบาดมาครบหนึ่งปี และได้สมัครขอเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างทางการเงินกับทางการได้แล้ว จะได้รับการคุ้มครองชั่วคราวจากการถูกฟ้องล้มละลาย การบังคับขายสินทรัพย์ การยึดอายัดทรัพย์โดยเจ้าหนี้

แต่กิจการนั้นต้องได้จ่ายค่าจ้างลูกจ้างครบจำนวนมาตลอดระหว่างสามเดือนแรกที่โควิดระบาดคือ ธันวาคม 2019 - สิ้นกุมภาพันธ์ 2020 และบัญชีบริษัทมีแนวโน้มชัดเจนว่า ทรัพย์สินของกิจการจะถูกรายจ่ายและต้นทุนเข้าท่วมท้นในสองปีข้างหน้า

แปลว่า ช่วยเถ้าแก่ที่ใจถึง ดูแลพนักงานดี ไม่ลดค่าจ้างในช่วงแรกทันที แต่มีรายจ่ายท่วมคอและจะท่วมจมูกแน่ๆในไม่ช้า

โดยให้กิจการนั้นส่งแผนการบริหารนับแต่ 1 เมษายน 2020 ที่เริ่มล็อคดาวน์มาแสดงว่า รายได้หดตัวลงถึง 75% จากสภาวะปกติ

ดังนั้นพวกร้านขายคอมพิวเตอร์ ร้านขายทีวีจอใหญ่ เลยไม่เข้าข่าย เพราะช่วงล็อคดาวน์ ทีวีและคอมพิวเตอร์ขายดีขึ้นเกิน30%!!

แปลว่า ก๊อกนี้มีไว้ให้ผู้ที่ถูกโควิดกระแทกตรงๆ และเต็มๆ ได้มีที่ยืนพิงฝาพักขาชั่วคราวไปสักพัก

แต่การจะพิงฝานี้ได้ ต้องอาศัยคำสั่งศาลเป็นรายๆ ไป และจะคุ้มครองได้นานสามเดือนในแต่ละคราวเท่านั้น

ก๊อกนี้ ไอซ์แลนด์รวมพลังทั้งทางรัฐสภา รัฐบาล และศาลมาทำผนังพิงชั่วคราวให้ในช่วงโควิด เพราะสิ่งที่ทำนี้ ไม่เคยมีทำกันมาก่อน และย่อมทำให้เจ้าหนี้ต่างๆ ต้องเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากบีบยึดเอาทรัพย์สินไปจากลูกหนี้ไม่ได้ชั่วคราว

ก๊อกนี้เป็นตัวอย่างที่ยังไม่เคยมีมาก่อน และน่าสนใจครับว่าผลจะเป็นอย่างไรบ้าง

ทีนี้มา ก๊อกที่สี่ นี่ก็ออกกฎหมายผ่านสภามาให้ใหม่เลย

โดยระบุว่า ลูกจ้างที่ต้องถูกการกักตัว 14 วันโดยไม่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้างนั้น รัฐบาลไอซ์แลนด์จะเข้ามาจ่ายเงินเดือนให้แทนสำหรับช่วงการกักตัวนั้น อันนี้เพื่อดึงดูดให้ผู้ต้องถูกกักตัวไม่ฝ่าฝืนมาตรการที่รัฐกำหนด แต่จะได้ไม่เกินรายละ 633,000 ISK ในแต่ละเดือน เช่นลูกจ้างไปเดินห้าง แล้วมีข่าวว่า มีคนติดเชื้อมาเดินห้างเดียวกัน ทุกคนที่เคยไปห้างในช่วงนั้นจะถูกเรียกตัวไปกักหรือถูกสั่งให้ขังตัวเองที่บ้าน แบบนี้ลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมงหรือลูกจ้างที่ใช้วันลาไปหมดแล้วย่อมไม่ได้ค่าจ้างจากนายจ้าง ขืนปล่อยให้เป็นอย่างนั้นเกรงจะหนีการกักตัวเอง แล้วดันทุรังไปทำงาน อันจะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้

รัฐบาลไอซ์แลนด์จึงเลือกว่าจะจ่ายให้เองดีกว่าสำหรับช่วงกำหนดกักตัว

บังเอิญว่า ประเทศไอซ์แลนด์นั้นแม้จะมีพื้นที่กว้างใหญ่แต่มีประชากรน้อยแค่ไม่ถึงสี่แสนคน จึงคาดการณ์ว่า แม้รวมผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระเข้ากับลูกจ้างเอกชนทั้งหมดแล้ว ก็น่าจะมีผู้มาขอใช้ประโยชน์จากกฎหมายก๊อกสี่นี้ราว 140,000 คนเท่านั้นเอง

อันนี้จึงต่างจากไทย ที่แจกฟรีเดือนละห้าพันบาทเป็นเวลา 3 เดือน สำหรับคนที่ต้องถูกล็อคดาวน์ หลายสิบล้านคน

แต่ข้อนี้ช่วยให้เรารู้ว่า ในต่างประเทศเขาตอบสนองสถานการณ์กันต่างไปอย่างไร

ไม่ได้แปลว่า เขาทำดีกว่านะครับ เพราะเงื่อนไขและโครงสร้างภาษีในแต่ละที่ย่อมแตกต่างกันเสมอ ไอซ์แลนด์มีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเริ่มที่ 35.04-46.24% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีของไทยมากๆ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย อัตราสูงสุดยังอยู่ที่35%เท่านั้น

และไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ใช้เงินดิจิทัลแพร่หลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นกิจการที่อยู่นอกระบบจึงแทบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งตรงข้ามกับไทยมาก ไทยมีกิจการในระบบฐานภาษีน้อยกว่าเศรษฐกิจนอกระบบแบบเทียบกันได้ยาก

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้อ่านมีจินตนาการกว้างขึ้นเกี่ยวกับมาตรการที่น่าสนใจในช่วงโควิดระบาด ประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งมักจะจ้างงานคนไว้เป็นจำนวนมาก หรือมีห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและลงถึงรากฐานของคนเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ รายเล็กๆที่ให้บริการนำส่งวัตถุดิบ การรับจ้างทำความสะอาด การรับซักรีด การขายของที่ระลึก คนขับยานพาหนะซึ่งเป็นงานที่คนฐานรากพอจะเข้าถึงได้ต่อเนื่องง่ายกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ การได้เห็นระบบสินเชื่อที่พยายามตามไปเข้าใจวิถีของประชากรของระบบจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านการเงินในไทยไปด้วยนั่นเอง