3 'วัคซีนโควิด-19' ในไทย เตรียมเข้าสู่ทดลองในคนระยะ 1

3 'วัคซีนโควิด-19' ในไทย เตรียมเข้าสู่ทดลองในคนระยะ 1

สธ.ยัน “ทีมไทยแลนด์”ลุยจัดหาวัคซีนโควิด-19 คาดคนไทยได้ใช้หลังต่างประเทศวิจัยสำเร็จเร็วสุดใน 3-6 เดือน ราวมิ.ย. 64 ส่วนวิจัยของไทยเข้าสู่การทดสอบในคนระยะ 1 มี 3 เทคโนโลยี ย้ำไทยไม่ได้ล่าช้า

19 ต.ค. 63 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) แถลงข่าว “ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนไทย” ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีน ตั้งเป้าหมายครอบคลุมประชากรไทย 50% โดยทีมประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันเร่งรัดการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ใน 3 แนวทาง คือ 1. จัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าผ่าน COVAX Facility และการตกลงแบบทวิภาคี (Bilateral Agreement) ซึ่งสธ.ได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วม เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนในประเทศ เร่งประสานความร่วมมือเพื่อให้ประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้

2. การเจรจาขอความร่วมมือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากต่างประเทศ กับผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ทั้งในเอเชียและยุโรปเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนไทยมากยิ่งขึ้น รวมถึง ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า ในการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 ชนิด Adenoviral vector (AZD1222) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563

และ 3. การพัฒนาวัคซีนเองในประเทศ มีทั้งหมด 7 เทคโนโลยีการผลิต โดยการวิจัยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 มี 3 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีนชนิด DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช (Plant based) โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งผู้วิจัยได้หารือกับหน่วยงานด้านควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อยู่บนกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการจัดหาวัคซีนให้ได้ 50% ของประชากรไทย จะแบ่งสัดส่วนออกเป็น 1. การจองวัคซีนกับโครงการ COVAX facility ประมาณ 20% อยู่ระหว่างการเจรจาจองวัคซีน ซึ่งหากบริษัทใดกว่า 20 ประเทศทำเสร็จ ก็คาดว่าไทยจะได้ใช้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งตามไทม์ไลน์ตั้งไว้ไม่น่าเกินกลางปี 2564 แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ผลิตวัคซีนว่าสำเร็จเมื่อไหร่ 2. จากแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดอีก 20% ได้มีการมาสำรวจในประเทศไทยว่าโรงงานใดมีศักยภาพ พบว่าสยามไบโอไซเอนซ์ มีประสิทธิภาพในการผลิตได้ถึง 200 ล้านโดส จึงมีการคัดเลือก

ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์ของแอสตร้าเซนเนก้าต้องผ่านการทดสอบระยะ 3 และผลิตได้ในเดือนธันวาคม 2563 จากนั้นต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศต้นทาง คือ อังกฤษ และต้องขึ้นทะเบียน อย.ในไทย ซึ่งหากผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพร้อมผลิตได้ประมาณเดือน มิถุนายน 2564 และ 3. อีก 10% เป็นการเจรจาวัคซีนกับแหล่งอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดราคาชัดเจน แต่เบื้องต้นในส่วนของ COVAX facility ราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 10.55 ดอลลาร์ต่อโดส แต่ในส่วนของแอสตร้าเซนเนก้า คาดว่าต้องราคาถูกกว่านี้ เนื่องจากคิดราคาต้นทุนเท่านั้น ไม่บวกกำไร

นพ.นคร กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยว่า ในส่วนของการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยนั้น จะมีการทดลองในคนระยะที่ 1 และ 2 หากใช้ได้ผลดีกระตุ้นภูมิคุ้มกันดี ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนนำผลมาเทียบเคียงกับต่างประทศที่มีการศึกษาได้ผลระยะที่ 3 แล้ว จากนั้นก็ต้องดำเนินการเสนอขออนุญาตการผลิตต่ออย. เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีพื้นที่การระบาดที่จะทดลองในคนระยะที่ 3 ซึ่งต้องทำในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม ได้มีการเจรจาเบื้องต้นกับประเทศในอาเซียนที่ยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อทดลองในคนระยะที่ 3 แต่ยังไม่สามารถระบุชื่อประเทศไทยต้องดูสถานการณ์การระบาดในช่วงครึ่งปีหน้าอีกครั้ง

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้อาจจะมีข่าวประเทศนั้นประเทศนี้มีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ในความเป็นจริงวันนี้ยังไม่มีวัคซีนประเทศไทยที่ผ่านการวิจัยใยนคนระยะที่ 3 แล้วได้ผลไม่ว่าจะเป็นประเทศรัสเซียหรือจีน ที่มีการฉีดนั้นเป็นไปในเงื่อนไขจำกัดเฉพาะประชากรบางกลุ่ม ซึ่งประเทศไทยยังไม่ยอมรับมาให้คนไทยเสี่ยง ขอย้ำวื่การวิจัยวัคซีนที่ก้าวหน้าที่สุดยังอยู่ในการวิจัยในคนระยะที่ 3 เพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิผลป้องกันโรค เพราะฉะนั้นประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการล่าช้าในเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19