สมรภูมิ 'ม็อบ' ยุคใหม่ ดาวกระจาย 'พื้นที่เศรษฐกิจ'

สมรภูมิ 'ม็อบ' ยุคใหม่ ดาวกระจาย 'พื้นที่เศรษฐกิจ'

ต้องจับตาการชุมนุมดาวกระจายของ “กลุ่มคณะราษฎร” ว่าจะมีโอกาสที่จะกำหนดพื่นที่ เพื่อชุมนุมปักหลักค้างคืนหรือไม่ และหากจำเป็นต้องปักหลักค้างคืนจะเลือกใช้พื้นที่ใดเป็นจุดยุทธศาสตร์

จากจุดเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนนัดหมายชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ต่อด้วยแยกปทุมวัน มาจนวันนี้ ไม่ว่าม็อบ "คณะราษฎร 63” ที่ชื่อเรียกตัวเองใหม่ว่า “กลุ่มราษฎร" จะนัดหมายชุมนุมที่ไหน จะมี นักเรียน-นักศึกษา-ประชาชน เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก แม้จะใช้เวลานัดหมายเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ยิ่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ใช้ไม้แข็งมากขึ้นเท่าไร สถานการณ์ม็อบยิ่งบานปลาย ลุกลามทั่วประเทศ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง” ไม่สามารถทำให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมเกรงกลัวต่อกฎหมายยาแรง ดังนั้นหากจะประกาศเคอร์ฟิว “รัฐบาล” อาจจะต้องประเมินให้รอบด้านว่าจะคุมอยู่หรือไม่

ชั่วโมงนี้การใช้ “ยาแรง” หวังปราบม็อบอาจจะไม่มีใครกลัว และไม่ขลังอีกต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'บิ๊กบี้' ขยับ 'คณะราษฎร63' เล่นแรง!

ยุทธศาสตร์การของกลุ่มคณะราษฎรนัดรวมพลในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร เพราะการเดินทางสะดวก มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน มีรถเมล์หลายสายวิ่งเข้าพื้นที่นัดหมายได้ เพราะการนัดม็อบกระทันหัน หากการคมนาคมไม่สะดวกก็ยากที่จะรวมพล

ทุกพื้นที่ที่นัดหมาย อาทิ แยกราชประสงค์ แยกปทุมวัน 5 แยกลาดพร้าว วงเวียนใหญ่ แยกอุดมสุข อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น ล้วนเป็นสถานที่ที่เดินทางเข้าออกสะดวก หลายช่องทาง

แม้วันนี้ “กลุ่มราษฎร” จะกระจายตัวไปหลายพื้นที่ แต่บรรดา “แกนนำ” ที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือบรรดา “กุนซือ” ที่คอยกำกับอยู่เบื้องหลัง รู้ดีว่าการชุมนุมดาวกระจายที่ไม่สามารถปักหลักค้างคืนได้ ก็ยังยากที่จะล้ม “รัฐบาลประยุทธ์” หรือทำความฝันสูงสุดให้เป็นจริงได้

160309127999

ว่ากันว่า “แยกราชประสงค์” ยังจุดยุทธศาสตร์ที่ “แกนนำคณะราษฎร” อยากยึดครองปักหลักชุมนุมค้างคืน แต่รู้ว่ามีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถตรึงผู้ร่วมชุมนุมให้ร่วมเวทีได้นานพอ เพราะถือเป็นยุทธภูมิ ที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ มีทั้งแหล่งศูนย์การค้าใหญ่ แหล่งธุรกิจ ออฟฟิศ

“แกนนำ” รู้ว่ายากที่ตรึงคนค้างคืนได้ จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่ที่สามารถระดมคนได้อย่างรวดเร็ว “ราชประสงค์” คือคำตอบของ “กลุ่มราษฎร” แม้แยกราชประสงค์จะไม่ได้มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองอันยาวนาน เหมือนกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ตาม

เมื่อแยกราชประสงค์เป็นจุดศูนย์รวมของประชาชน จึงเป็นพื้นที่ที่เกือบทุกม็อบเลือกใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์

การชุมนุมของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 “แกนนำนปช.” เลือกตั้งเวทีใหญ่ที่แยกราชประสงค์ เพื่อจัดการชุมนุมขับไล่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง

“กลุ่มแดง นปช.” ปักหลักค้างคืนตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. ถึงวันที่ 19 พ.ค. 2553 รวมแล้ว 47 วัน ที่ “กลุ่มแดง นปช.” ใช้แยกราชประสงค์เป็นสมรภูมิรบ นอกจากนี้ ยังกระจายกำลังไปยังแยกปทุมวัน แยกอังรีดูนังต์ และอีกหลายแยกในบริเวณใกล้เคียง เพื่อตั้งค่ายกลปิดล้อมแยกราชประสงค์ ตัดเส้นเลือดใหญ่ด้านเศรษฐกิจของประเทศ

การสู้รบของ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” กับ “กลุ่มแดงนปช.” สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจอย่างมาก จนไม่สามารถประเมินตัวเลขความเสียหายทั้งหมดได้ ทำให้ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” กดดันผู้ชุมนุมอย่างหนักจนนำไปสู่การกระชับพื้นที่ก่อนที่จะสลายการชุมนุม

ซึ่งภายหลังการสลายการชุมนุม “กลุ่มแดงนปช.” เกิดการเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด รวมทั้งห้างบริเวณแยกราชประสงค์ โดยทาง กทม.สรุปว่ามีจุดที่ถูกเผาทั้งหมด 12 จุดภายในกทม. โดยผลการสอบสวนยังไม่สามารถระบุได้ว่า “ฝ่ายใด” เป็นผู้ก่อเหตุ โดยศาลได้ยกฟ้องจำเลย 4 คน ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

ตลอดระยะเวลา 47 วันในสมรภูมิแยกราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิต 87 ราย แบ่งเป็น ประชาชน 79 ราย ทหาร 8 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 2,100 ราย

ภายหลังการชุมนุมของ “กลุ่มแดงนปช.” แยกราชประสงค์ถูกจารึกให้เป็นสถานที่รำลึกการต่อสู้ของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่มีจุดยืนต่อต้านเผด็จการมาโดยตลอด และเหตุผลหนึ่งที่ “กลุ่มราษฎร” เลือกใช้เวทีราชประสงค์ เพราะหวังที่จะสะท้อนให้เห็นการใช้กำลังทำร้ายประชาชน

การชุมนุมของ “กลุ่มราษฎร” เมื่อวันที่ 15 ต.ค. จึงมีการปราศรัยโดยพูดกันว่า “ที่นี่มีคนตาย” อยู่หลายครั้ง

นอกจากนี้ การชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน ในช่วงที่มีการชุมนุม “ดาวกระจาย” ชัตดาวน์ กทม.ปิด 7 พื้นที่หลัก “แยกราชประสงค์” คือหนึ่งในเวทีหลักของกลุ่มกปปส.

โดยกปปส.ปักหลักชุมนุมแยกราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. ถึง วันที่ 2 มี.ค. 2557 รวม 50 วัน ซึ่งมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นที่แยกราชประสงค์เช่นกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 24 ราย เสียชีวิต 2 ราย

การชุมนุมของกปปส.ทอดเวลายาวนาน และการดาวกระจาย 7 จุด ทำให้มวลชนที่ปักหลักหน้าเวทีมีน้อย “สุเทพ” จึงเคลื่อนพลออกจากแยกราชประสงค์ไปชุมนุมที่เวทีสวนลุมพินี ก่อนจะจบที่เวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์

หลังจากนี้ ต้องจับตาการชุมนุมดาวกระจายของ “กลุ่มคณะราษฎร” ว่าจะมีโอกาสที่จะกำหนดพื้นที่ เพื่อชุมนุมปักหลักค้างคืนหรือไม่ และหากจำเป็นต้องปักหลักค้างคืนจะเลือกใช้พื้นที่ใดเป็นจุดยุทธศาสตร์ โดยย่านเศรษฐกิจของประเทศอาจเป็นพื้นที่หลัก