'อิตาเลียนไทย' คว้างานศูนย์ซ่อมไฮสปีดไทย - จีน ร.ฟ.ท.ลั่นพร้อมลงนาม เริ่มสร้างทันที

'อิตาเลียนไทย' คว้างานศูนย์ซ่อมไฮสปีดไทย - จีน ร.ฟ.ท.ลั่นพร้อมลงนาม เริ่มสร้างทันที

บอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติ “อิตาเลียนไทย” คว้าประมูลศูนย์ซ่อมเชียงรากน้อย ไฮสปีดไทย - จีน หลังดัมพ์ราคา 6,573 ล้านบาท จ่อนัดลงนามสัญญาเริ่มงานก่อสร้างทันที เล็งเสนอ ครม.ภายในเดือน ต.ค.นี้ ขยายกรอบเวลาลงนามสัญญา 2.3 ระบบอาณัติสัญญาณอีก 90 วัน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติจ้างก่อสร้างสัญญาที่ 4-4 งานโยธา สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา)

โดยภายหลัง ร.ฟ.ท.ได้เปิดประกวดราคาโครงการดังกล่าว วงเงิน 7,664 ล้านบาท ผลปรากฏว่าเอกชนผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยเสนอราคาอยู่ที่ 6,573 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางราว 16% หรือลดลงไป 1,091 ล้านบาท โดยภายหลังบอร์ดอนุมัติครั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะเร่งนัดวันลงนามสัญญาทันที เพื่อให้เอกชนลงพื้นที่เริ่มงานก่อสร้าง

“งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผู้รับเหมาจะสามารถเริ่มงานได้ทันที ไม่ต้องรออนุมัติส่วนใดเพิ่มเติมแล้ว เพราะว่าพื้นที่ก่อสร้างเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ที่มีเตรียมพร้อมไว้ ส่วนงานโยธาสัญญาอื่นๆ ที่บอร์ดอนุมัติผลการประมูลไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายงานอีไอเอ และเหลืออีกเพียง 1 สัญญาที่รอการประมูล จากทั้งหมด 12 สัญญา คือช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ซึ่งต้องรอปรับแบบให้สอดคล้องกับไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน”

สำหรับสถานะและความก้าวหน้าของโครงการไฮสปีดเทรนไทย - จีน ในปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้เปิดประกวดราคางานโยธาไปแล้ว 13 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา แบ่งออกเป็น สัญญางานโยธา 12 สัญญา งานอุโมงค์ 1 สัญญา และศูนย์ซ่อมบำรุง 1 สัญญา รายละเอียดดังนี้

สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันก่อนสร้างแล้วเสร็จ

สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง  กม. ความก้าวหน้า 39.29% ล่าช้ากว่าแผน 47.89%

สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย - กลางดง และช่วงปางอโศก - บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. ปัจจุบันบอร์ดได้อนุมัติสั่งจ้างและประกาศผู้ชนะแล้ว แต่ยังติดปัญหาเอกชนยื่นอุทธรณ์

สัญญา 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. รอลงนามสัญญาจ้าง

สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า - ลำตะคอง ระยะทาง 21.60 กม. รอลงนามสัญญาจ้าง

สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง - สีคิ้ว และช่วงกุดจิก - โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. รอลงนามสัญญาจ้าง

สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด - นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. รอลงนามสัญญาจ้าง

สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา

สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง - นวนคร ระยะทาง 21.80 กม.รอลงนามสัญญาจ้าง

สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร - บ้านโพ ระยะทาง 23.00 กม. รอลงนามสัญญาจ้าง

สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย รอลงนามสัญญาจ้าง

สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. รอลงนามสัญญาจ้าง

สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว - สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. รอลงนามสัญญาจ้าง

สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี - สระแก้ว ระยะทาง 12.99 กม. รอลงนามสัญญาจ้าง

นายนิรุฒ ยังกล่าวด้วยว่า บอร์ดได้เห็นชอบให้ขยายเวลาในการดำเนินการจัดทำร่างสัญญาจ้างและเงื่อนไขอื่นในการทำสัญญาจ้างงานระบบ รถบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ไฮสปีดเทรนไทย - จีน เนื่องจากตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมมีกำหนดกรอบเวลาลงนามสัญญาดังกล่าวภายใน 31 ต.ค.2563

ซึ่งเบื้องต้นมีกำหนดลงนามในวันที่ 28 ต.ค.2563 แต่เนื่องจากปัญหาโควิด -19 ที่อาจส่งผลต่อต่อการดำเนินการในการลงนามสัญญา ร.ฟ.ท.จึงจะเสนอขยายกรอบลงนามไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ผิดต่อมติ ครม. โดยจะขอขยายไปอีก 90 วัน

“เรื่องขยายเวลาลงนามสัญญา 2.3 เราไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่ลงนามตามวันที่กำหนดในเบื้องต้นนี้ แต่เพราะว่าอาจจะติดปัญหาความไม่สะดวก ทางจีนอาจจะไม่สะดวกเดินทางมาลงนาม เรื่องนี้เราเลยต้องขอขยายเวลาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ขัดกับมติ ครม. โดยหลังจากบอร์ดอนุมัติแล้ว ก็จะเร่งเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.ให้ทันภายในเดือน ต.ค.นี้”