ต้นแบบเรือของพ่อ สานต่อพระราชปณิธาน

ต้นแบบเรือของพ่อ สานต่อพระราชปณิธาน

ตลอดระยะเวลากว่า 51 ปีการรับใช้ชาติของเรือต. 91 เรือประวัติศาสตร์แห่งราชนาวีไทย เป็นผลพ่วงแห่งความพากเพียรที่ยึดถือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใจความตอนหนึ่งว่า

“การป้องกันประเทศทางทะเลเป็นหน้าที่โดยตรงและสำคัญที่สุดของกองทัพเรือ เป็นภาระหน้าที่ ต้องอาศัยทหารซึ่งมีความรู้ ความสามารถ และเรือรบอันมีคุณภาพดีประกอบพร้อมกันไป”   

พลเรือโท ด็อกเตอร์สมัย ใจอินทร์ รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นตัวแทนชาวเรือ ในการถ่ายทอดเรื่องราวนี้   

"เมื่อปีพ.ศ. 2503 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินยังต่างประเทศ เมื่อทรงทราบว่าที่ไหนมีการต่อเรือจะเสด็จฯ ทอดพระเนตร ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ที่เข้าเฝ้าที่พระตำหนักวังไกลกังวล เล่าให้ฟังว่าภายหลังจากเสด็จฯ กลับมายังประเทศไทย มีรับสั่งให้ผู้บัญชาการทหารเรือ เจ้ากรมอู่ทหารเรือ นาวาโทวิเชียร ปิ่นพลบุตร นาวาโท ดร. อำนาจ จันทนมัฎฐะ (ยศในขณะนั้น) ที่เพิ่งเรียนจบจากอังกฤษ มาเข้าเฝ้าฯ รวมทั้งมีการต่อโมเดลเรือขนาดต่างๆ ในสัดส่วน 25 ต่อ 1 บ้าง 40 ต่อ 1 บ้าง แล้วนำไปทดสอบลากในอ่างน้ำ เพื่อดูว่าเรื่องความต้านทานของเรือกี่แรงม้า ถ้ามีคลื่นลม คลื่นน้ำในทะเล จะทนได้ขนาดไหนยังไง เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยเรื่องการคำนวน เป็นศาสตร์ที่คนต่างประเทศเขาทำกันทั้งนั้น ซึ่งการออกแบบเรือถือเป็นเรื่องใหม่และต้องใช้ความร่วมแรงร่วมใจจากคนหลายฝ่าย ภารกิจของเรือลำนี้ คือ มีทั้งปราบปรามโจรสลัด คุ้มครองเรือประมง การลาดตระเวณเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ดังนั้นฟังก์ชั่นของเรือออกแบบมาเพื่อภารกิจเหล่านั้น ไปค้นคว้า กว่าจะสำเร็จเป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำแรก คือเรือต. 91 ถือว่านานมากถึง 7 ปี" 

160256213662

เมื่อภารกิจเป็นเช่นนั้น ภายในเรือมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นส่วนต่างๆ เช่น ห้องควบคุมเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อเป็นแหล่งพลังงานในเรือสำหรับกำหนดทิศทางของหางเสือด้วยระบบไฮโดริค ที่สั่งการมาจากสะพานเรือหรือที่คนทั่วไปเรียกว่าเป็นพื้นที่สำหรับผู้บังคับการเรือสั่งการให้บังคับหางเสือเดินเรือไปตามทิศทางที่กำหนด มีเรดาห์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการนำทาง รวมทั้งมีอาวุธประจำเรือ คือปืนประจำเรือต.91 เพื่อคุ้มครองเรือประมงที่ต้องการความช่วยเหลือคุ้มครอง มีที่พักของกำลังพล และหากเกิดเหตุฉุกเฉินจำเป็นต้องสละเรือ ก็มีห่วงชูชีพ แพชูชีพ อาหารยังชีพช่วยดำรงชีวิตได้นาน 7 วัน  

"ผมเคยได้รับเอกสารต่างๆ จาก ดร. อำนาจ ท่านเป็นผู้ออกแบบกลจักรและเล่าว่า ระหว่างสร้างเรือเกิดติดขัดเรื่องการคำนวนค่าต่างๆ แล้วไม่ลงตัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระสหายที่ทรงผูกมิตรไว้กับคนจำนวนมาก ซึ่งในที่สุดบุคคลเหล่านี้ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา จนสามารถสร้างแบบเรือสำเร็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการต่อเรือ เน้นความแข็งแรง หากเจอคลื่น เจอการกระแทก เจออาวุธ เข้าทางนั้นทางนี้จะเกิดอะไรขึ้น จากที่เราไม่เคยมีความรู้เรื่องการต่อเรือมาก่อน ก็สะสมองค์ความรู้ต่างๆ เรื่อยมา อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกครั้ง เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางกระดูกงูเรือ เมื่อปีพ.ศ. 2510 ซึ่งการต่อเรือดำเนินการพร้อมกัน 3 ลำ เพื่อเป็นเรือหมุนเวียนกันใช้งาน เครื่องไม้เครื่องมือสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ลำไหนเสียก็ส่งไปซ่อม คอยดูแลตลอดเวลาเพราะเหล็กกับน้ำทะเล ไม่ถูกกันหรอก การสึกหรอของเรือและเครื่องจักร

160256154788

   

160256154839

160256161799

กระทั่งถึงวันทดสอบสมรรถนะของเรือลำแรกของกองทัพไทย ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทดสอบความเร็วของเรือต. 91 ที่หลักไมล์เกาะสีชัง เพื่อทรงดูสมรรรถนะความเร็วสูงสุดว่าทำได้ตามสเปกมั้ย ในระยะหนึ่งไมล์ทะเลใช้เวลาเท่าไหร่ แล่นเรือไปกลับ 6 เที่ยวจะนานเท่าไหร่ วงเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาในที่แคบ หรือไปในที่แคบเป็นยังไง ร่องน้ำตื้นๆ เข้าได้ไหม เพราะเรือลำนี้เป็นเรือตรวจการใกล้ฝั่งประจันบาน อีกทั้งพระราชทานข้อสังเกตเกี่ยวกับ ปรับปรุงแก้ไขใบจักร และตัวเรือเพื่อความรวดเร็วจาก 19 นอต เป็น 20 นอต"

ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ 1-2 สิงหาคม พ.ศ. 2512 ในหลวง ร. 9 และสมเด็จพระบรมโอสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ประทับบนเรือ ต. 91 ทอดพระเนตรการฝึกทักษิณ 12  ของกองทัพเรือที่จังหวัดนราธิวาส นับเป็นครั้งแรกที่ประทับบนเรือลำนั้น 

"ความลึกซึ้งคือ เราต้องมีคนดูแลเรือได้ ต่อเรือเองได้แล้วนำไปรบ จับเรือฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นเรือรุ่นถัดมา มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยเริ่มต้นจากเรือต. 91 ถึง 93 รูปทรงคล้ายกัน พอมาถึงเรือ ต.94 ถึง 96 ก็ทำอีกแบบหนึ่ง เรือต. 97 ถึง 99 ก็อีกชุดหนึ่งซึ่งเรือทั้งลำจุคนได้ประมาณ 30 คน เหนือสิ่งอื่นใด คือ คนที่ออกไปรบในทะเล เป็นหน้าที่ของทหารเรือ ต้องผ่านการฝึกฝนให้มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่งั้นเวลาไปรบจริงจะตกใจ พาเรือตกอยู่ในที่อันตราย เพราะเป็นเรือติดอาวุธ ดังนั้นการสร้างเรือกับการสร้างคนเป็นสิ่งที่ทำไปแบบคู่ขนาน" 

160256218073

นับว่าผลพวงจากการสร้างเรือต. 91 นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศ ทั้งยังปกป้องอธิปไตยอย่างเข้มแข็ง โดยเรือลำนี้เคยปะทะเรือติดอาวุธของต่างชาติรุกล้ำและหาผลประโยชน์ในเขตน่านน้ำ ในยามเกิดภัยธรรมชาติ เรือลำนี้ยังช่วยเหลือผู้คนครั้งแล้วครั้งเล่า ปัจจุบันการต่อเรือตรวจการณ์มีความก้าวหน้า เกิดเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น อีกหลายลำ   

"ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งแม้กระทั่งความเป็นอยู่ของกำลังพลบนเรือ ทรงห่วงใยเสมอ และรับสั่งอีกว่า การต่อเรือทำได้ดีแล้ว ก็น่าจะทำเรือให้ใหญ่ขึ้นได้ โดยขยายแบบเป็นชุดเรือต.991 เพื่อทำหน้าที่ลาดตระเวนแนวชายฝั่งทะเลไทยจนถึงอ่าวอันดามัน เป็นไปตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน"  

ในวันนี้ ภารกิจของเรือต. 91 มาถึงวาระแห่งการปลดระวางเรือแล้ว กองเรือยุทธการ จึงนำเรือต้นแบบลำแรกมาสร้างเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ เรือ ต. 91 ให้ชาวเรือและประชาชนศึกษาองค์ความรู้ปฐมบทแห่งเรือรบแห่งน่านน้ำไทย 

160256276180

160256160724