'ดนุชา พิชยนันท์' เลขาฯ 'สภาพัฒน์'คนใหม่กับภารกิจท้าทายเมื่อ 'โควิด' ฉุดเศรษฐกิจประเทศ

'ดนุชา พิชยนันท์' เลขาฯ 'สภาพัฒน์'คนใหม่กับภารกิจท้าทายเมื่อ 'โควิด' ฉุดเศรษฐกิจประเทศ

"ดนุชา"กับภารกิจเลขาฯสภาพัฒน์คนใหม่บนความท้าทาย 'โควิด-19' ระบุ 2 ความเสี่ยงเศรษฐกิจประเทศหนี้ครัวเรือน - สภาพคล่อง เตรียมประชุมร่วม ธปท. - สถาบันการเงิน ถกแก้หนี้ก่อนเกิดวิกฤตเอ็นพีแอล 14 ต.ค.แนะทำเกณฑ์ชัดก่อนเปิดประเทศย้ำเศรษฐกิจรับ "เวฟ2"ไม่ไหว

ก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการวางแผนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยวัยเพียง 50 ปี "ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" (สศช.)  หรือ “สภาพัฒน์” เขาถือเป็น “ลูกหม้อ” ที่เติบโตจากตำแหน่งลูกจ้างที่ทำงานในสภาพัฒน์มาตั้งแต่ปี 2540 ผ่านช่วงเวลาที่สภาพัฒน์ทำงานกับนายกรัฐมนตรีถึง 9 คน จนมาถึงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานเศรษฐกิจเก่าแก่ย่านสะพานขาวในปัจจุบัน 

'วิกฤตโควิด'ไม่เหมือนวิกฤตครั้งก่อน 

“ดนุชา” ยอมรับว่าการเข้ามาเป็นเลขาสภาพัฒน์ในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ถือว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิกฤติที่ไม่เคยเจอมาก่อน ครั้งนี้ไม่เหมือนกันกับทุกครั้งที่ประเทศเจอวิกฤตไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 เพราะวิกฤตใน 2 ครั้งก่อนหน้านี้เกิดในกลุ่มประเทศบางกลุ่มเท่านั้น แต่โลกทั้งโลกยังคงเดินได้ และประเทศไทยฟื้นตัวได้เร็วโดยในปี 2540 เราฟื้นตัวได้จากภาคการส่งออกจากค่าเงินที่อ่อนค่า ส่วนในปี 52 - 53 วิกฤตมาจากข้างนอกคือมาจากสหรัฐฯและยุโรปประเทศไทยใช้มาตรการเศรษฐกิจอัดเงินงบลงทุนในบางกลุ่ม และกระตุ้นการบริโภคโดยการแจกเช็กช่วยชาติก็ดึงเศรษฐกิจขึ้นมาได้

แต่วิกฤตโควิด-19 เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งโลก ความยากของการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจึงมีมากกว่า แต่โชคดีที่ประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรที่ทั่วโลกต้องการ แต่ที่น่าห่วงก็คือในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเราขยายตัวไปในภาคท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน พอเกิดวิกฤตโควิดภาคท่องเที่ยวจึงเผชิญปัญหาหนักที่สุด

“เมื่อข้างนอกไม่ดี ข้างในมีปัญหาบางSectorรวมกับปัญหาเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจและความยากก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นคือโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอน (Uncertainty) อยู่มากคือไม่รู้ว่าวิกฤตจะจบเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นความยากที่เกิดจากความไม่แน่นอน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดตลอดว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจควบคู่กับการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างไร”ดนุชากล่าว 

เศรษฐกิจฟื้นตัวหลายส่วนหลังคลายล็อคดาวน์ 

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในปีนี้หลังจากการล็อคดาวน์เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่  2 และเริ่มคลายล็อกให้เศรษฐกิจเดินได้ พบว่าตัวชี้วัดต่างๆเริ่มฟื้นตัวขึ้น เช่น ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเดิมในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ -10% ขยับมาอยู่ที่ -7.5% ในเดือน ก.ค. และ เหลือ -4.6% ในเดือน ส.ค.  ในส่วนของการส่งออกในเดือน มิ.ย. - 24.6% เป็น -11.9 %ในเดือน ก.ค. และในเดือน ส.ค.เหลือ -8.2% ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต(Global PMI) ที่ปรับสูงดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อมีการคลายล็อคดาวน์ในประเทศต่างๆ  

ขณะที่บางตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเริ่มขยับเป็นบวกได้เช่นดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย.ที่อยู่ที่ 2% และขยับมาเป็น 7%ในเดือน ส.ค. สอดคล้องกับดัชนีรายได้เกษตรกรที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมติดลบลดลงจาก -17.8 ในเดือน มิ.ย. ในเดือน ก.ค. - 12.9 และขึ้นมาเป็น -9.3% ในเดือน ส.ค.จนถึงปัจจุบันการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาเป็น 60% แล้ว ที่เบาใจได้ก็คือจำนวนบริษัทที่ปิดกิจการมีจำนวนน้อยลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับดูจากจำนวนคนที่ขอรับเงินชดเชยว่างงานจากประกันสังคมที่ลดมาตรา 75 จำนวนลงช่วงเดือน ก.ค.มีประมาณ 2.75 แสนคน เดือน ส.ค.ลดลงเหลือประมาณ 1.76 แสนคน พอเดือน ก.ย.ลดลงเหลือแค่ 7.9 หมื่นคน 

แต่ที่ยังไม่ดีหรือมีสัญญาณฟื้นตัวคือภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเท่ากับ 0 ส่วนอัตราเข้าพักตามโรงแรมต่างๆขยับเพิ่มามาใกล้กับ 30% จากการเดินทางท่องเที่ยวของคนในประเทศที่่มีผลจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกันและกำลังใจที่ออกมา

รับห่วงหนี้ครัวเรือน - สภาพคล่องธุรกิจ

อย่างไรก็ตามการติดตามภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ พบว่าหลายตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจดีขึ้นแบบช้าๆแต่ตัวเลขต่างๆแสดงออกมาผ่านการพัฒนาปรับตัวที่ดีขึ้นจากการเลิกล็อคดาวน์ แต่ก็ยังมีอีกส่วนของเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าระวังคือเรื่องของ “หนี้ครัวเรือน” และเรื่องของ“สภาพคล่องของธุรกิจ”

สำหรับสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังของเอสเอ็มอีนอกจากปัญหาเรื่องสภาพคล่องยังมีปัญหาในเรื่องของหนี้เนื่องจากเมื่อหมดระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุม ศบศ.ว่าให้ สศช.ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาตลาดทุนไทย ว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการช่วยแก้ปัญหาโดยจะมีการหารือกันในวันพุธที่ 14 ต.ค.นี้

แนวทางการแก้ปัญหาที่มีการคุยกันไว้ก็คือว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องลงไปดูแลลูกค้าของตัวเองว่าใครที่ดูแล้วไปไม่ได้ พอเริ่มไปไม่ได้ต้องเริ่มปรับโครงสร้างหนี้ก่อน ส่วนคนที่พอไปได้คือเมื่อเริ่มกลับมาทำธุรกิจได้สามารถจ่ายดอกเบี้ย ผ่อนหนี้ได้กลุ่มนี้ไม่ต้องห่วงมาก แต่อาจต้องมีเงินกู้อีกลักษณะเข้ามาเสริม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งในช่วงที่ล็อกดาวน์มีการพักหนี้ดอกเบี้ยถูกรวมเข้ามาเป็นก้อนก็จะเป็นภาระให้ลูกหนี้ ซึ่งดอกเบี้ยส่วนนี้หากสามารถที่จะเลื่อนการจ่ายออกไปได้ก่อนหรือยืดหนี้ให้เป็นระยะเวลาที่ยาวออกไป ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่หนี้เอสเอ็มอีเป็นหนี้ในบัตรเครดิตก็จะไปพันกับหนี้ครัวเรือนซึ่งก็อันตราย ก็ต้องไปดูว่าพวกนี้จะช่วยยังไงอาจจะต้องมีมาตรการพิเศษมาช่วยอีก

“หนี้ที่จะมารวมกันเป็นจำนวนมากในช่วงที่หมดระยะเวลาพักชำระหนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง หากเราไม่สามารถมีมาตรการในการแก้ได้ทัน แล้วหนี้จำนวนนี้กลายเป็นเอ็นพีแอล เกิดต้องปรับโครงสร้างหนี้กันมากๆก็จะกลับมาพันที่ธนาคารพาณิชย์อีกเช่นกัน ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะเกิดขึ้นธนาคารพาณิชย์ก็ต้องไปบริหารจัดการ ที่ผ่านแบงก์ชาติก็ออกมาตรการต่างๆเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อม และเป็นไปได้ว่าเมื่อทุกธนาคารไปดูข้อมูลทั้งหมดแล้วได้จำนวนสภาพหนี้ประเภทต่างๆออกมา แบงก์ชาติก็อาจจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมได้ โดยทางเลือกที่จะเกิดขึ้นเพื่อดูแลเอสเอ็มอีจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นต้องไปหารือกันให้ชัดเจน และเอสเอ็มอีที่จะช่วยก็ต้องไปรอดด้วยเพราะภาครัฐมีทรัพยากรจำกัด”

นอกจากมาตรการและแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอียังมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยว เช่นสายการบินที่มีการขอซอฟท์โลนจากรัฐบาลโดยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีมาแล้ว รวมถึงบริษัททัวร์ที่ต้องการความช่วยเหลือในช่วงที่การท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่ฟื้นตัว

ชี้ลดภาษีซื้อรถยนต์ต้องวางเงื่อนไขให้รัดกุม

สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอเข้ามาให้ ศบศ.พิจารณาอีกหลายข้อเสนอเช่น โครงการลดหย่อนภาษีจากการซื้อรถยนต์100,000 บาท นายดนุชากล่าวว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอจากคณะกรรมการพิจารณามาตรการเศรษฐกิจรายสาขาที่รวบรวมข้อเสนอของเอกชนมาให้ ศบศ.พิจารณาโดยข้อเสนอเรื่องลดภาษีรถยนต์เนื่องจากมีการพิจารณาว่าดัชนีการอุปโภคสินค้าคงทนเช่นรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ต้องมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมโดย หากมีมาตรการนี้จริงต้องมีเงื่อนไข ไม่ใช่การให้ลดหย่อนสำหรับการซื้อรถยนต์ใหม่ทุกคันแต่ต้องมีการวางเงื่อนไขเช่นให้ซื้อรถยนต์ใหม่ทดแทนรถยนต์ที่ใช้งานมาเกิน 10 ปี หรืออาจต้องพิจารณาไปถึงว่ารถยนต์ที่ซื้อใหม่อาจเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อช่วยเรื่องมลภาวะ เป็นต้น

160224251895

การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศโดยหาทางผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลเริ่มพิจารณา เพราะต้องยอมรับว่าการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศนั้นทำให้ดีที่สุดก็จะได้เม็ดเงินประมาณ 8-9 แสนล้านบาทเท่านั้น ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวในปีก่อนอยู่ที่ 3 ล้านล้าน เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท และไทยก็พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอยู่มาก 

แนะวางเกณฑ์ต่างชาติเข้าประเทศชี้เศรษฐกิจไม่พร้อมรับ 'เวฟ2'

การผ่อนคลายเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นตอนให้นักธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเข้ามาในประเทศไทยได้จึงเป็นเรื่องที่เริ่มมีการพิจารณาโดยให้ตรวจตามขั้นตอนแต่ไม่ต้องกักตัวแต่ก็ต้องมีผู้ติดตามการเดินทางและแอพพลิเคชั่นติดตามตัว เป็นต้น โดยตอนนี้ทางสมช.และ ศบค.กำลังหารือกัน และประสานกับกระทรวงต่างประเทศเพื่อที่จะดูมาตรการที่จะเอาคนเข้ามาที่เป็นขั้นตอนที่ชัดเจนอย่างไรต้องให้มีความชัดเจน และหากทำได้ดีก็จะค่อยๆผ่อนคลายเพื่อให้มีรายได้จากตรงนี้จากต่างประเทศอีกส่วน

"การเปิดให้ชาวชาติเข้ามาก็ต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็ตอนและระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดมายังคนในประเทศจนแพร่ระบาดเป็นเวฟ 2 เพราะ ประเทศไทย afford 2 waves ไม่ได้อีกแล้วหรือล็อคดาวน์เศรษฐกิจอีกรอบไม่ได้แน่ๆ ผมว่าเราต้องรอบครอบ เกิดมีปัญหาแล้วต้องล็อคดาวน์อีก2 เดือน ถ้าเป็นแบบนั้นเรารับไม่ไหวแน่ๆในทางเศรษฐกิจ พวกนี้ต้องมีมาตรการไว้ทั้งหมดว่าถ้าติดเชื้อในประเทศวันละกี่คนจะมีมาตรการอย่างไรที่สุดแล้วต้องระมัดระวังที่สุด"นายดนุชา กล่าว 

160224256074

160238392578

เตรียมชงโครงการเงินกู้แพค 2 เข้าครม.

สำหรับการอนุมัติโครงการตามเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ 9.2 หมื่นล้านบาทขณะนี้โครงการขนาดใหญ่มีการอนุมัติไปเกือบหมดแล้วเหลือเพียงโครงการของกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท โดยในโครงการส่วนที่เป็นแสนล้านบาทที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาโครงการ โดยจะเป็นวงเงินที่อยู่ในแพคนี้ประมาณ 1.2 - 1.3 แสนล้านบาทโดยโครงการที่อยู่ในแพคนี้จะมีความหลากหลายทั้งการจ้างงาน การอนุมัติแหล่งน้ำและถนนที่มีความจำเป็นในชุมชน การจัดงานแสดงสินค้าเพื่อสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน และสินค้าโอทอป มีที่ขายและระบายสินค้ามากขึ้น นอกจากนั้นจะมีโครงการประเภทการฝึกและพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยซึ่งรายชื่อโครงการจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ภายในเดือน ต.ค.นี้และเริ่มทยอยอนุมัติโครงการในช่วงต้นเดือน พ.ย.ไปจนถึงต้นปี 2564 

ชูทีมสภาพัฒน์สร้างความสำเร็จในการทำงาน

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวด้วยว่านอกจากงานในการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ขณะนี้สภาพัฒน์ยังมีภารกิจอื่นๆอีกมาก เช่น การช่วยวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องการแก้จนโดยใช้แผนที่ TPMAP ที่สภาพัฒน์พัฒนาขึ้น ภารกิจประจำช่วงที่อยู่ในการจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ฉบับที่13 การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับเฉพาะกิจและทบทวนแผนฉบับใหม่ และการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานที่สำคัญซึ่งต้องแบ่งการทำงานและจัดกำลังให้ดีกับอัตรากำลังที่มีอยู่ซึ่งได้ทำงานภายใต้วัฒนธรรมองค์กรแบบ“ทีมสภาพัฒน์”เพื่อรองรับภารกิจสำคัญๆหลายๆเรื่องต้องเป็นทีมเดียวกันทั้งสำนักงานเพื่อให้ทำงานตามภารกิจได้สำเร็จ

เมื่อถามว่าระหว่างดำรงตำแหน่งมีเรื่องที่อยากทำ หรือมีตัวชี้วัดอะไรที่อยากทำให้สำเร็จ ดนชา บอกว่าอยากเห็น "ความเหลื่อมล้ำ" ในประเทศลดลง แต่ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้เท่านั้น หากแต่คือความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาส การศึกษา และกระบวนการยุติธรรมที่อยากให้เกิดความเท่าเทียมามากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องให้ "คนรวย" ลดระดับความร่ำรวยลงมา แต่ต้อง "มีโอกาส" หรือช่องทางที่จะทำให้ "คนจน" คนที่อยู่ด้านล่างของสังคมขยับสถานะทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น