ดีเดย์ 1 พ.ย. สิทธิ'บัตรทอง'กทม.รักษาหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่

 ดีเดย์ 1 พ.ย. สิทธิ'บัตรทอง'กทม.รักษาหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่

กทม. สปสช. รพ.ทุกสังกัดเขต กทม. และปริมณฑล ร่วมจัดทัพ “ระบบบริการสุขภาพ” รองรับดีเดย์ 1 พ.ย. นี้ “สิทธิบัตรทองคน กทม. รับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการได้ทุกที่”

ในการแสวนา “ปฏิรูประบบสุขภาพเมืองกรุง ด้วยเครือข่ายปฐมภูมิ เพื่อคุณภาพชีวิตสิทธิบัตรทองคน กทม.” เมื่อเร็วๆนี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. เตรียมที่จะมีการปรับปรุงระบบบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่เขต กทม. โดยจะเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิในแต่ละพื้นที่ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการสุขภาพที่ไหนก็ได้ใน กทม. รูปแบบใหม่นี้จะยังมีหน่วยบริการประจำอยู่ที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเช่นเดิม

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมใหม่คือ หน่วยบริการร่วม เป็นหน่วยบริการรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ คลินิกเวชกรรม คลินิกที่เปิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้บริการเฉพาะในช่วงเย็น คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแพทย์ทางเลือก และร้านขายยา (ขย.1) เป็นต้น โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพหน่วยบริการในพื้นที่ ในกรณีผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อจะโรงพยาบาลรองรับเช่นเดิม คาดว่าระบบใหม่นี้จะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากกรณียกเลิกคลินิกเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ กทม. และ สปสช. ร่วมจัดระบบบริการปฐมภูมิใหม่ โดยผู้ว่าฯ กทม. เชื่อว่าประชาชนต้องการรับบริการใกล้บ้านใกล้ใจ มอบสำนักอนามัยที่ดูแลศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ร่วมกับ สปสช. ในการดึงคลินิกในพื้นที่เข้าร่วม มีอาสาสมัครสาธารณสุข (สสอ.) ในแต่ละพื้นที่ร่วมสะท้อนความเห็นบริการคลินิกเหล่านี้ โดยศูนย์บริการสาธารณสุข จะยังทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการหลักในการดูแลประชาชนในพื้นที่เหมือนเดิม

แต่จะเพิ่มบทบาทการตรวจสอบคุณภาพคลินิกเครือข่ายที่ร่วมให้บริการ นำไปสู่การดูแลประชาชนโดยเครือข่ายบริการที่ใกล้บ้านใกล้ใจ ได้มีบางพื้นที่เริ่มต้นแล้ว ตัวอย่างที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล สังกัด กทม. เป็นโรงพยาบาลใหญ่กลางใจเมืองและเป็นมหาวิทยาลัยแพทย์ ได้จัดหน่วยบริการเครือข่ายครอบคลุมดูแลประชากรใน 4 เขต ได้แก่ เขตดุสิต พระนคร บางพลัด และบางซื่อ ที่นับเป็นการปฏิรูประบบบริการสุขภาพให้กับคนกรุง ซึ่งเราจะร่วมขยายบริการรูปแบบใหม่นี้ให้ทั่ว กทม.

พล.อ.ต.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพล กล่าวว่า โรงพยาบาลภูมิพลเข้าร่วมดูแลประชากรภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเราเป็นโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่เขตเหนือ ครอบคลุมดูแลประชากรเขตดอนเมือง หลักสี่ บางเขต และสายไหม ช่วงแรกเรามีประชากรดูแล 3 แสนคน เป็นจำนวนที่รับดูแลประชาชนสิทธิว่างในตอนนี้ แต่ด้วยคนไข้ที่เข้ามารักษาจำนวนมากทำให้ดูแลไม่ไหว นำมาสู่โมเดลกระจายการบริการ โดยดึงคลินิกเอกชนในพื้นที่เข้าร่วมเครือข่ายบริการจำนวน 25 แห่ง ช่วยให้โรงพยาบาลลดคนไข้นอกได้ถึง 80% โดยสิ่งที่ต้องเน้นย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจ คือการให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่า แม้จะกระจายการบริการไปที่คลินิกแล้ว แต่โรงพยาบาลยังติดตามคุณภาพและให้การรักษาร่วมในหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ที่ผ่านมาเราก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

“โจทย์การจัดเครือข่ายบริการปฐมภูมิจากนี้ ต้องทำให้คนไข้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลลดลง โดยระบบใหม่ที่ กทม. และ สปสช. ทำอยู่นี้จะเปิดให้มีเครือข่ายโรงพยาบาลส่งต่อเพิ่มขึ้น แต่ในโซนเขตเหนือนั้น โรงพยาบาลภูมิพลเป็นโรงพยาบาลรัฐเพียงแห่งเดียว มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 80% หากทำได้หวังว่าจะมีโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาร่วมดูแลคนไข้ด้วย” ผอ.รพ.ภูมิพล กล่าว

นางสุจิน รุ่งสว่าง อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) กทม. ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า การให้บริการระบบสาธารณสุขเดิมเป็นแบบแนวตั้ง แต่รูปแบบใหม่เป็นแบบตัดขวาง รู้สึกว่าประชาชนจะได้รับบริการที่ดีขึ้น เพราะบริการใกล้บ้านใกล้ใจเป็นเรื่องที่พูดกันมา 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่เป็นจริง แต่ด้วยรูปแบบบริการใหม่เชื่อว่าจะทำให้ใกล้บ้านใกล้ใจเกิดขึ้นจริงได้ ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทาง ต้องขอบคุณภาวะวิกฤติครั้งนี้ที่ทำให้เกิดการปฏิรูประบบบริการใหม่ใน กทม.

“วิกฤติที่เกิดขึ้น ในฐานะ อปสข. ได้ลงพื้นที่ เราได้คุยกับศูนย์บริการสาธารณสุข เขต 45 และ 46 ย่านลาดกระบัง ว่าเบื้องต้นจะดูแลประชาชนเฉพาะหน้าอย่างไร ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขยินดีที่จะขยายเวลาบริการของศูนย์ถึง 2 ทุ่ม ต้องขอบคุณที่ทำให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ส่วนแผนปฏิรูปใหม่ที่ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นหน่วยบริการประจำ ทำหน้าที่หาหน่วยบริการเครือข่ายในพื้นที่ และควบคุมคุณภาพ โดยมีความร่วมมือจาก อปสข. และภาคประชาชน หน่วยบริการรับเรื่องร้องเรียนภาคประชาชน มาตรา 50 (50) ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการคุณภาพจากการดูแลร่วมกัน” นางสุจิน กล่าว