กมธ.ศึกษาร่างรธน. ซัด ฝ่ายค้านจ้องคว่ำก่อนโยนบาปให้รัฐบาลและส.ว.

กมธ.ศึกษาร่างรธน. ซัด ฝ่ายค้านจ้องคว่ำก่อนโยนบาปให้รัฐบาลและส.ว.

กมธ.ศึกษาร่างรธน. อัด ฝ่ายค้านไม่เคารพประชาธิปไตย หวัง เล่นเกมคว่ำรธน.และโยนบาปให้รัฐบาลและส.ว. ตั้ง 5 ประเด็นถกละเอียดก่อนส่งสภา

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ แถลงผลการประชุมกมธ.ว่า ที่ประชุมกมธ.ได้ทำการเชิญตัวแทนฝ่ายค้านในฐานะผู้เสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและแก้ไขเป็นรายมาตรา แต่ได้รับการปฏิเสธ ทำให้ตอนนี้เหลือเพียงแค่การเชิญพรรคร่วมรัฐบาลในฐานะผู้เสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว.และนักวิชาการที่จะมาชี้แจงต่อกมธ.เท่านั้น

นายอัครเดช กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่คณะกมธ.ได้พิจารณา คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความขัดแย้งกันเองหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายค้านได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เช่นเดียวกับประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอในการทำประชามติ ซึ่งยังไม่ข้อสรุปว่าจะต้องทำการประชามติก่อนรัฐสภาพิจารณา หรือ ทำประชามติหลังจากผ่านรัฐสภาทั้งสามวาระแล้ว

ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เสียดายกับท่าทีของฝ่ายค้านในการปฏิเสธคำเชิญของคณะกรรมาธิการฯ เพราะการมาชี้แจงจะได้เป็นโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจกับส.ว. โดยตอนนี้มีความสงสัยในญัตติของฝ่ายค้านว่ามีความขัดแย้งกันหรือไม่ เพราะญัตติหนึ่งเสนอให้ตั้งส.ส.ร.แต่อีกญัตติหนึ่งที่เสนอกลับเป็นการแก้ไขรายมาตรา ซึ่งคิดว่าถ้าจะตั้งส.ส.ร.ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรายมาตรา

"การไม่มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของฝ่ายค้าน ทำให้การทำงานของคณะกรรมาธิการยากขึ้น และเป็นการไม่เคารพประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงข้างมาก ทั้งๆที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่านละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ฝ่ายค้านควรเคารพประชาธิปไตยและการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ สงสัยว่าเป็นความพยายามที่ไม่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จหรือไม่และต้องการโยนบาปให้ส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาล" นายชัยวุฒิ กล่าว

ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายที่มีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้มีการประชุมและได้มีข้อสรุปในการตั้งประเด็นเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการทำประชามติจำนวน 5 ประเด็น ดังนี้

1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 256 ที่เสนอพรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาล ขัดกับรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 หรือไม่ 2.การทำจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องออกเสียงประชามติก่อนหรือไม่ และต้องออกเสียงประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง และต้องมีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่ ใช้กฎหมายปัจจุบันได้หรือไม่ 3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของฝ่ายค้านขัดกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ให้มีการตั้งส.ส.ร.หรือไม่

4.ส.ส.สามารถลงลายชื่อในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมากกว่าหนึ่งญัตติได้หรือไม่ และ 5.หากมีการตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและรัฐสภาไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.สามารถแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่รัฐสภาไม่รับหลักการได้หรือไม่อย่างไร