'กรมประมง' เร่งรับรองสินค้าหลังตลาด ‘ซินฟาตี้’ ตั้งเงื่อนไขไร้โควิด

'กรมประมง' เร่งรับรองสินค้าหลังตลาด ‘ซินฟาตี้’ ตั้งเงื่อนไขไร้โควิด

กรมประมงเร่งออกใบรับรองสินค้าปลอดโควิด หลัง “ซินฟาตี้” ตลาดค้าส่งอาหารสดใหญ่ที่สุดในปักกิ่ง สนซื้อภายใต้เงื่อนไขสินค้าต้องไม่ปนเปื้อนไวรัสโคโรนา คาดปีนี้ส่งออกเพิ่ม 20%

นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารตลาดซินฟาตี้ ตลาดค้าส่งผักผลไม้และเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง ได้ประสานทูตเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง โดยแสดงความสนใจซื้อสินค้าเกษตรของไทย เริ่มที่สินค้าประมง

อย่างไรก็ตามเนื่องจาก ซินฟาตี้ เพิ่งตรวจเจอไวรัสโควิด-19 บนเปื้อนปลาแซลมอน ทำให้ต้องตั้งเงื่อนไขให้หน่วยงานไทยรับรองการปลอดเชื้อโควิดปนเปื้อนในอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงสินค้าออกจากโรงงาน ด้วย

ซึ่งในเรื่องนี้กรมประมงได้ดำเนินการไปแล้วล่วงหน้าโดยกำหนดให้เป็นการรับรองโดยสมัครใจของผู้ประกอบการ หากสถานที่และกระบวนการผลิตถูกต้อง ปลอดภัยตามที่กรมประมงกำหนด นอกเหนือจากมาตรฐานพื้นฐานอื่นๆ เช่น HACCP,GMP เป็นต้น ทางกรมประมงพร้อมที่จะออกใบรับรองให้ฟรี ทำให้สินค้าประมงของไทยสามารถส่งออกในตลาดจีนได้โดยสะดวก โดยเฉพาะกุ้ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.นี้ กรมประมงจะลดบทบาทดังกล่าวลง แต่จะเปลี่ยนใบใช้ใบรับรอง การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์  และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะใช้เป็นใบรับรองโควิดฉบับเดียว ที่ครบคลุมผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกไปยังทั่วโลกได้ โดยจะเริ่มเป็นผลทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป

“มาตรฐานดังกล่าวยังเป็นการสมัครใจ เพราะผู้ประกอบการบางรายยังไม่พร้อมจะเข้าร่วม ส่วนหนึ่งเพราะต้องปรับปรุงโรงงานที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่โรงงานที่ได้มาตรฐานแล้วสามารถเดินหน้าไปต่อไปได้เลย “

ปัจจุบันมีโรงงานที่ได้ใบรับรองส่งออกแล้วประมาณ 24 โรงงานจากทั้งหมด 100 กว่าโรงงาน และขณะนี้ กรมประมงอยู่ระหว่างการร่างเอกสารเพื่อเจรจากับตลาดซินฟาตี้ คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถส่งออกสินค้าประมงไปจีนได้เพิ่ม

“ตลาดซินฟาตี้ เป็นฝ่ายติดต่อทูตเกษตรของไทย แสดงความสนใจที่จะซื้อสินค้าเกษตรของไทยไปขาย หลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด หากไทยส่งสินค้าให้ซินฟาตี้ได้ มั่นใจภายในปี 2563 สินค้าประมงไทยจะสามารถส่งไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20% หรือ 1,000 ล้านบาท ปกติส่งออกได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท และจะเป็นการนำร่องส่งสินค้าเกษตรอื่นๆไปเจาะที่ตลาดจีนได้เพิ่ม”