ยุคโควิด-ยุคปรับโครงสร้างธุรกิจ

ยุคโควิด-ยุคปรับโครงสร้างธุรกิจ

ยุคโควิด-ยุคปรับโครงสร้างธุรกิจ จะเห็นว่าบริษัทชั้นนำหลายแห่งพร้อมใจกันปรับโครงสร้างใหญ่ ปลดพนักงานจำนวนมาก เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางรายได้และผลกำไรลดลงได้อีกต่อไป

ช่วงนี้มีบริษัทชั้นนำโลกหลายแห่งพากันปรับโครงสร้างใหญ่ เปลี่ยนกลยุทธในการดำเนินธุรกิจ ปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุน หลังจากถูกกระหน่ำอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดช่วงที่ผ่านมา เริ่มจากรอยัล ดัทช์ เชลล์ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติดัทช์และอังกฤษ ที่ประกาศแผนปลดพนักงานราว 9,000 คน หรือกว่า 10% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้บริษัทลดต้นทุนต่อปีลงได้ประมาณ 2-2.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2565

แผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ของเชลล์ จะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของบริษัทจากการผลิตก๊าซและน้ำมันไปเป็นพลังงานคาร์บอนต่ำ และข้อมูลนับจนถึงสิ้นปี 2562 ระบุว่า เชลล์มีพนักงานทั้งสิ้น 83,000 คน

เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เชลล์รายงานผลกำไรสุทธิประจำไตรมาส 2 ทรุดฮวบลง เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซปรับตัวลงอย่างมาก โดยมีกำไร 638 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2/2563 ร่วงลงถึง 82% เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิ 3.5 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และลดลงจากระดับ 2.9 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1/2563

ตามมาด้วย วอลท์ ดิสนีย์ ที่เตรียมปลดพนักงานประมาณ 28,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานในสวนสนุกที่สหรัฐ หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่สวนสนุกดิสนีย์แลนด์ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งยังคงปิดให้บริการ แต่พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 2 ใน 3 จะได้รับการว่าจ้างพนักงานชั่วคราว

ที่ผ่านมา ดิสนีย์ได้สั่งปิดสวนสนุกทั่วโลกในช่วงที่โรคโควิด-19 เริ่มระบาด ก่อนจะกลับมาทยอยเปิดให้บริการอีกครั้งในบางแห่ง โดยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

การลดพนักงานไม่ได้เกิดขึ้นกับสองบริษัทที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น แม้แต่ค่ายรถชั้นนำอย่างมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปของญี่ปุ่น ก็บอกว่ากำลังพิจารณาที่จะเกษียณอายุพนักงานก่อนกำหนดจำนวน 500-600 คน โดยจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางที่เปิดเผยในเดือนก.ค.ที่ผ่านมานั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนด้านแรงงาน อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะลดต้นทุนโดยรวมลงมากกว่า 20% เพื่อปรับปรุงสถานะการเงินของบริษัท

พนักงานอายุ 45 ปีขึ้นไป รวมถึงพนักงานในตำแหน่งผู้บริหารในสำนักงานใหญ่ที่กรุงโตเกียว รวมถึงที่โรงงานในจังหวัดไอจิ และจังหวัดโอกายามา จะต้องเกษียณอายุก่อนกำหนดตามแผนการของบริษัท โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ซึ่งเป็นพันธมิตรกับนิสสัน มอเตอร์ และเรโนลต์ มีพนักงานประมาณ 14,000 คนในบริษัทแม่ นับจนถึงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

การผลิตรถยนต์ของมิตซูบิชิ มอเตอร์สในญี่ปุ่น ร่วงลง 69.1% ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 8 แห่งของญี่ปุ่น และบริษัทคาดว่า จะขาดทุนสุทธิราว 3.60 แสนล้านเยน (3.4 พันล้านดอลลาร์) ในปีธุรกิจปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.ปีหน้า

ขณะที่สหภาพนักบินของสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค แอร์เวย์ ลงประกาศในหนังสือพิมพ์เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์เพื่อขอเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนในการขอเข้าร่วมเจรจาเกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งจะประกาศออกมาในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

เนื้อหาที่สหภาพนักบินลงประกาศในหนังสือพิมพ์เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่สมาคมลูกเรือฮ่องกงรวบรวมขึ้น ซึ่งสะท้อนความเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ที่ระบุว่า สมาชิกในสหภาพทั้ง 2,200 คนมีความสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์ของฮ่องกงให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่สายการบินปฏิเสธที่จะนำเงินช่วยเหลือการจ้างงานจากรัฐบาลไปใช้เพื่อพยุงธุรกิจหลักของสายการบิน ส่งผลให้สายการบินไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องรักษาการจ้างงานเอาไว้ และสร้างความกังวลว่า อาจนำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมาก

ส่วนธุรกิจการบินในสหรัฐก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงไม่แพ้สายการบินของฮ่องกง ที่จะส่งผลให้มีพนักงานในธุรกิจนี้ตกงานจำนวนกว่า 3 หมื่นคน หากรัฐบาลสหรัฐไม่อัดฉีดเงินภายในเส้นตายวันพุธ(30ก.ย.)

เมื่อเดือนมี.ค. รัฐบาลสหรัฐให้เงินเยียวยาสายการบินสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คิดเป็นวงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีข้อแม้ว่า บริษัทเหล่านี้จะต้องไม่ปลดพนักงานจนถึงวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งผู้บริหารของสายการบินสหรัฐหลายแห่งได้เข้าพบนายมาร์ก มีโดวส์ หัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 17 ก.ย. เพื่อขอให้รัฐบาลสหรัฐอนุมัติเงินช่วยเหลืองวดใหม่จำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่อุตสาหกรรมการบิน ก่อนที่มาตรการเดิมจะหมดอายุลงในช่วงสิ้นเดือนก.ย.