บริการคลาวด์โซลูชั่น…แรงหนุนหลักตลาดดิจิทัล B2B ท่ามกลางวิกฤติโควิด เติบโตกว่าร้อยละ 19 ในปี 2563

บริการคลาวด์โซลูชั่น…แรงหนุนหลักตลาดดิจิทัล B2B ท่ามกลางวิกฤติโควิด เติบโตกว่าร้อยละ 19 ในปี 2563

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระตุ้นให้ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิทัศน์การดำเนินธุรกิจในตลาดดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจไทย (B2B) เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

จากเดิมที่มุ่งเน้นเพียงการยกระดับประสิทธิภาพและสร้างช่องทางการดำเนินธุรกิจใหม่ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ลูกค้าองค์กรธุรกิจของตน หันมาสู่การสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจในทุกด้านให้แก่องค์กรธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัล

  • นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจต่างๆ ก็มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล จากเดิมที่มักจะลงทุนและเป็นเจ้าของระบบดิจิทัลเอง มาสู่การใช้งานผ่านระบบคลาวด์โซลูชั่นมากขึ้น ทำให้ตลาดดิจิทัล B2B สามารถขยายฐานตลาดสู่ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กได้กว้างขวางขึ้น จากเดิมที่มักกระจุกตัวอยู่แต่องค์กรธุรกิจรายใหญ่ที่มีทุนทรัพย์ ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าหลังเศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัว ตลาดคลาวด์โซลูชั่นน่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการมีแนวโน้มหันมานำเสนอบริการใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจในการสร้างความแตกต่างมากขึ้น ผ่านการนำเสนอบริการที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครายบุคคลได้
  • ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563 และ 2564 ตลาดบริการคลาวด์โซลูชั่นน่าจะขยายตัวราวร้อยละ 4 และ 8.2 ตามลำดับ โดยมีมูลค่าตลาดราว 15,718 ล้านบาท และ 17,003 ล้านบาท ตามลำดับ

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลกันมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิทัศน์การดำเนินธุรกิจในตลาดดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจไทย (B2B) เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มุ่งเน้นเพียงโจทย์การยกระดับประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรธุรกิจ และการช่วยลูกค้าธุรกิจในการเพิ่มช่องทางการขายและการตลาดสู่ผู้บริโภคผ่านอินเทอร์เน็ต หันเหมาสู่การมุ่งตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรด้านการสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ ทั้งกิจกรรมทางธุรกิจหลังบ้าน เช่น การประชุมออนไลน์ และการเข้าถึงข้อมูลภายในองค์กรจากนอกออฟฟิส เป็นต้น และกิจกรรมทางธุรกิจหน้าบ้าน โดยช่วยองค์กรธุรกิจเพิ่มกิจกรรมการเข้าถึงผู้บริโภคอื่นๆ นอกเหนือจากการขายและโฆษณา เข่น การเคลมประกันผ่านออนไลน์ และการให้คำปรึกษาหลังการขายผ่านวีดีโอคอล เป็นต้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการช่องทางดิจิทัลเพื่อติดต่อกับภาคธุรกิจในกิจกรรมที่หลายหลายมากขึ้น และหลีกเลี่ยงช่องทางออฟไลน์ในช่วงการเกิดโควิด-19

นอกเหนือจากโจทย์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงแล้ว รูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการดิจิทัล B2B ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน จากเดิมที่เน้นโมเดลธุรกิจในรูปแบบรับติดตั้งโซลูชั่นธุรกิจแบบขายขาดโดยลูกค้าองค์กรเป็นผู้ลงทุนระบบเซิร์ฟเวอร์เอง ทำให้ตลาดในอดีตมักกระจุกตัวอยู่แต่องค์กรธุรกิจรายใหญ่ที่มีทุนทรัพย์ ในขณะที่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนมาสู่โมเดลธุรกิจให้บริการเช่าใช้ หรือบริการคลาวด์โซลูชั่นมากขึ้น (Cloud Solutions) โดย

องค์กรธุรกิจไม่ต้องลงทุนระบบ IT หลังบ้านเอง และสามารถชำระค่าบริการตามปริมาณการใช้งานที่ตนต้องการได้ ส่งผลให้ตลาดดิจิทัล B2B สามารถขยายฐานตลาดสู่ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กได้กว้างขวางขึ้น ขณะที่ในระยะหลัง องค์กรธุรกิจรายใหญ่ก็หันมานิยมโซลูชั่นในรูปแบบดังกล่าวมากขึ้นเช่นกัน เพราะสามารถลดภาระในการลงทุนและบำรุงรักษาระบบ IT ในระยะยาวได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาของการเกิดโควิด-19 ในไทย โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ที่หลายองค์กรธุรกิจต้องใช้มาตรการทำงานจากที่บ้าน ทำให้การสร้างความต่อเนื่องของกิจกรรมทางธุรกิจอย่างเร่งด่วนกลายมาโจทย์สำคัญ ส่งผลให้ธุรกิจให้บริการคลาวด์โซลูชั่นในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากสามารถลดระยะเวลาการลงทุนและติดตั้งระบบ IT ลงได้ และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไม่สู้ดีนัก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563 ตลาดบริการคลาวด์โซลูชั่นจะมีมูลค่าประมาณ 15,718 ล้านบาท เติบโตราวร้อยละ 19.4 ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวราวร้อยละ 22.4 โดยการเติบโตส่วนใหญ่น่าจะได้รับแรงหนุนจากกลุ่มสถาบันการเงิน ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์ เป็นต้น   

อย่างไรก็ดี การที่องค์กรธุรกิจมีแนวโน้มลดการลงทุนด้าน IT ด้วยตนเอง และหันมาใช้แนวทางคลาวด์โซลูชั่นมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดซอฟแวร์โซลูชั่นแบบติดตั้งเอง (On-premise) ให้มีแนวโน้มไม่สู้ดีนัก ในขณะที่ตลาดฮาร์ดแวร์ระบบ IT สำหรับองค์กร[1] ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน เนื่องจากการใช้งานบริการคลาวด์โซลูชั่นจะเปรียบเสมือนการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานระบบ IT ร่วมกันระหว่างหลายองค์กร ทำให้ภาพรวมการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ระบบ IT มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563 ตลาดซอฟแวร์โซลูชั่นแบบติดตั้งเองจะมีมูลค่าประมาณ 46,808 ล้านบาท หดตัวราวร้อยละ 6.6 จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ตลาดฮาร์ดแวร์ระบบ IT สำหรับองค์กรจะมีมูลค่าประมาณ 78,847 ล้านบาท หดตัวราวร้อยละ 5.7 จากปีก่อนหน้า

เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19 โจทย์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการดิจิทัล B2B ก็มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยองค์กรธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่รายเล็กถึงรายใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนมาสู่การใช้บริการคลาวด์โซลูชั่นมากขึ้น ทำให้ความแตกต่างด้านศักยภาพการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นคู่แข่งกันบนช่องทางดิจิทัลมีไม่มากนัก ส่งผลให้โจทย์ระยะถัดไปของผู้ประกอบการคลาวด์โซลูชั่นน่าจะปรับเปลี่ยนสู่การมุ่งเน้นการมอบบริการที่สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภคขั้นปลาย เพื่อสร้างความแตกต่างเชิงธุรกิจให้กับลูกค้าองค์กรของตน ผ่านการพัฒนาโซลูชั่นดิจิทัลที่สามารถเข้าใจภาพธุรกิจขององค์กร เช่น มีผู้บริโภคเป้าหมายเป็นใคร จุดเด่นของสินค้าหรือบริการ และกำลังการผลิตหรือการให้บริการของผู้ประกอบการ เป็นต้น เพื่อประกอบเข้ากับข้อมูลผู้บริโภค (Big Data) ในการมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคขั้นปลาย

ยกตัวอย่างเช่น โซลูชั่นร้านอาหารที่สามารถเรียนรู้ระยะเวลาการทำอาหารแต่ละเมนูของทางร้าน รู้ลักษณะรสชาติของแต่ละเมนู และรู้ออเดอร์อาหารคงค้างที่ต้องทำในแต่ละช่วงเวลา เมื่อมีผู้บริโภคท่านหนึ่งต้องการสั่งอาหารของทางร้านผ่านช่องทางออนไลน์ โซลูชั่นร้านอาหารดังกล่าว ก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคท่านนั้น ร่วมกับข้อมูลร้านอาหาร แล้วสามารถแจ้งระยะเวลาที่ต้องรอสำหรับอาหารที่ต้องการสั่ง หรือแม้แต่สามารถแนะนำของทานเล่นหรือเมนูอาหารอื่นที่ถูกปาก และใช้เวลาประกอบอาหารที่สอดคล้องกับออเดอร์คงค้างในขณะนั้นได้ เป็นต้น  

นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการคลาวด์โซลูชั่นยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโซลูชั่นสำหรับลูกค้าองค์กรที่สามารถตอบสนองความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภคขั้นปลายต่อบริการดิจิทัลด้วย โดยผู้บริโภคน่าจะคาดหวังให้เกิดการเชื่อมโยงของธุรกิจต่างๆ ในลักษณะที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตนแบบรายบุคคลได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคที่ชอบออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้ออาจต้องการบริการดิจิทัลที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ของตน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากสถานบริการฟิตเนสเกี่ยวกับความคืบหน้าของกิจกรรมเพาะกล้ามเนื้อ เข้ากับโภชนาการอาหารที่ควรจะได้รับ เมื่อผู้บริโภคท่านนั้นต้องการสั่งอาหารออนไลน์ ก็สามารถแนะนำเมนูอาหารที่เหมาะสมกับปริมาณสารอาหารที่ได้รับไปแล้วในวันนั้นได้ รวมถึงการเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจอาหารเสริม ซึ่งสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความคืบหน้าในการเพาะกล้ามของผู้บริโภคท่านนั้นได้ เป็นต้น

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ในปี 2564 ตลาดบริการคลาวด์โซลชั่นน่าจะยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยด้านการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างองค์กรธุรกิจในยุคดิจิทัล และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปี 2563 หลากหลายธุรกิจได้หันมาใช้งานคลาวด์โซลูชั่นแล้วในระดับที่ค่อนข้างสูงดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ความต้องการใช้งานคลาวด์โซลูชั่นน่าจะชะลอตัวลงในปีหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2564 ตลาดบริการคลาวด์โซลชั่นน่าจะขยายตัวราวร้อยละ 8.2 โดยมีมูลค่าตลาดราว 17,003 ล้านบาท

กล่าวโดยสรุป การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระตุ้นให้ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยมีส่วนเปลี่ยนแปลงโจทย์การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการดิจิทัล B2B จากเดิมที่มุ่งเน้นเพียงการยกระดับประสิทธิภาพและสร้างช่องทางการดำเนินธุรกิจใหม่ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ลูกค้าองค์กรธุรกิจของตน หันมาสู่การสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจในทุกด้านให้แก่องค์กรธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัล นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจต่างๆ ก็มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล จากเดิมที่มักจะลงทุนและเป็นเจ้าของระบบดิจิทัลเอง มาสู่การใช้งานผ่านระบบคลาวด์โซลูชั่นมากขึ้น ทำให้ตลาดดิจิทัล B2B สามารถขยายฐานตลาดสู่ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กได้กว้างขวางขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปี 2563 ตลาดบริการคลาวด์โซลูชั่นจะเติบได้ดีดังกล่าวข้างต้น แต่ตลาดดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจโดยรวมมีแนวโน้มหดตัวราวร้อยละ 3.8 เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่กดดันตลาดซอฟแวร์โซลูชั่นแบบติดตั้งเองและตลาดฮาร์ดแวร์ระบบ IT สำหรับองค์กร

ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าหลังเศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัว คาดว่า ตลาดดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอีกครั้งราวร้อยละ 5.2 ในปี 2564 โดยได้รับแรงหนุนหลักจากตลาดคลาวด์โซลูชั่น ซึ่งผู้ประกอบการน่าจะเริ่มหันมานำเสนอบริการใหม่ที่สามารถตอบโจทย์องค์กรธุรกิจในการพยายามสร้างความแตกต่างเชิงธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการนำเสนอบริการที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์และมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภครายบุคคลได้ ดังนั้น เพื่อตอบสนองโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผู้ให้บริการคลาวด์โซลูชั่นจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาโซลูชั่นสำหรับองค์กรธุรกิจอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคที่มีความคาดหวังเพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้