ทีมวิชาการโควิด-19เร่งทบทวนผ่อนคลายสร้างสมดุลปลอดภัย-เศรษฐกิจ

ทีมวิชาการโควิด-19เร่งทบทวนผ่อนคลายสร้างสมดุลปลอดภัย-เศรษฐกิจ

คาดทั่วโลกติดเชื้อจริงทะลุ 100 ล้านคน สธ.ย้ำ 6 กลุ่มเข้าไทยยังต้องกักตัว14วัน เพียงพอป้องกันคนติดเชื้อหลุดเข้าประเทศ เผยทีมวิชาการโควิด19กำลังทบทวนทุกมิติ ก่อนพิจารณาลดวันกักตัว-ผ่อนคลายแบบคนไทยไม่เสี่ยง ลั่นตัดสินใจบนฐานสร้างสมดุลปลอดภัย-เศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั่วโลกยังมีการแพร่ระบาดของโควิด -19 อยู่ ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโควิด-19ที่มีการรายงานยืนยันการติดเชื้อ อยู่ที่ประมาณ 33 ล้านคน แต่นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าผู้ติดเชื้อจริงค่อนข้างมาก เนื่องจากการรายงานผู้ติดเชื้อยืนยันนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละประเทศในการตรวจวินิจฉัย ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าทั่วโลกอาจมีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจริงมากกว่า 100 ล้านรายเรียบร้อยแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตที่มีการรายงานประมาณ 1 ล้านราย แน่นอนว่าอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงเช่นเดียวกัน

สถานการณ์ในประเทศไทยถือว่าดีกว่าสถานการณ์ของทั้งโลกมาก โดยเจอผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นมาเจอผู้ป่วยเพียง 1 รายที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ ซึ่งต่างจากคำว่าเกิดการระบาดระลอกใหม่ เพราะการเจอผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจไม่ใช่การระบาดระลอกใหม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมป้องกันโรค ว่าทำได้ดี และเข้มข้นแค่ไหน หากทำอย่างเข้มข้น ก็จะทำให้เมื่อการเจอผู้ติดเชื้อรายใหม่จะควบคุมได้เร็วและไม่เกิดการระบาด และหากเกิดการระบาดระลอก2ขึ้นไม่จำเป็นที่ต้องมีขนาดที่ใหญ่กว่าระลอก1เสมอไป

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า กรณีที่อนุญาตให้คนไทยและต่างชาติ 6 กลุ่มเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นนั้น ทั้งหมดยังต้องเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวังโรคด้วยการเข้ารับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนดเป็นเวลา 14 วันเช่นเดิม ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าการกักตัว 14 วันไม่เพียงพอนั้น ในความเป็นจริงคือหลัง 14 วันเป็นต้นไปไม่เคยเจอว่ามีใครติดเชื้อ ดังนั้นระยะเวลา 14 วันสามารถป้องกันการติดเชื้อเข้ามาในประเทศได้ แต่ที่ผ่านมาอาจจะมีการสับสนระหว่างการติดเชื้อและการตรวจพบเชื้อหลัง 14 วัน เพราะ ปัญหาของโควิด-19 คือ ส่วนใหญ่จะมีค่าเฉลี่ยการตรวจเจอเชื้อจากการแยงจมูกส่งตรวจอยู่ที่ 17 วัน แต่อาจจะมีบางคนสามารถตรวจเจอเชื้อในช่วงเวลานานกว่านั้น เช่น คนที่มีปริมาณเชื้อจำนวนมาก มีอาการรุนแรงมาก่อน รวมถึง ผู้สูงอายุและผู้ภูมิคุ้มกันต่ำ มีรายงานนานที่สุดที่ยังตรวจเจอเชื้อ คือ 83 วัน

“คนที่กักตัวก่อนเข้าประเทศแล้ว ไม่มีใครเลยที่ติดเชื้อและเข้ามาในประเทศ ที่ผ่านมาเจอคือคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนและผ่านการกักตัวแล้ว แต่ปรากฏว่าเจอเชื้ออีกครั้ง แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การติดเชื้อใหม่แต่เป็นการตรวจเจอเชื้อได้อีกครั้งโดยเชื้อไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งการที่ตรวเจอเชื้อในผู้ที่เดินทางมาไทยนั้น จะตอบได้ว่าเป็นการติดเชื้อมาก่อนหรือเพิ่งติดเชื้อก่อนมาไทยไม่นาน จึงต้องมีการตรวจด้วยการเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันร่วมด้วย”นพ.ธนรักษ์กล่าว


ต่อข้อถามการลดวันกักตัวผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศจาก 14 วันเหลือ 7 วัน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีการกักตัวทุกคนที่ 14 วันแต่เริ่มมีนักวิจัยทำการทบทวนมาตรการที่ประเทศต่างๆ รวมทั้ง เครื่องมือใหม่ๆที่จะสามารถนำมาใช้เสริมจากวิธีการดั้งเดิมที่ใช้อยู่เลยมีการเริ่มส่งสัญญาณว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถลดระยะเวลากักตัว ซึ่งเรื่องนี้ทีมวิชาการโควิด-19ของประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างใกล้ชิด หากจะนำมาใช้ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยและปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งในการพิจารณาไม่ได้มองแค่มิติเดียว แต่พิจารณาในความเสี่ยงภาพรวมและความพร้อมในการจัดการกับเหตุการณ์ใดๆที่จะเกิดขึ้นได้ดีแค่ไหน

ยกตัวตัวอย่าง บางเมืองในบางประเทศไทย มีสถานการณ์ของโรคดีกว่าประเทศไทย เพราะไม่เจอผู้ป่วยมากกว่า 200 วันแล้ว ซึ่งแสดงว่าในพื้นที่มีผู้ป่วยน้อยมากๆ ดังนั้นคนที่เดินทางจากพื้นที่ที่ไม่มีผู้ป่วยมานานเข้ามาในประเทศที่ไม่มีผู้ป่วยเหมือนกัน โอกาสที่จะนำเชื้อเข้ามาในประเทศไทยก็ต่ำมากๆ เป็นต้น

นพ.ธนรักษ์ กล่าวด้วยว่า การวางแผนระยะต่อไปไม่ได้พิจารณาแค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งประเด็นเดียวเท่านั้น แต่พิจารณาภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่ความเสี่ยงของประเทศต้นทาง วิธีการกักตัวแล้วหลังจาก 7 วันจะสามารถให้ผู้เดินทางทำอะไรได้บ้างหรือทำอะไรไม่ได้บ้าง ไม่ใช่ว่ากักตัวครบ 7 วันแล้วจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่จะมีวิธีการผ่อนคลายระดับหนึ่งที่ไม่ทำให้คนไทยเสี่ยงจนเกินไป ขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกหลายๆอย่างให้กับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศด้วย ซึ่งการพิจารณาไม่ได้มองเฉพาะมิติเรื่องความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียวเท่านั้น แต่ดูเรื่องของความปลอดภัยคนไทยด้วย ไม่อยากจะทำให้เสียสมดุล โดยสธ.ยินดีสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นด้วยการก้าวย่างไปพร้อมกับความปลอดภัย