กรมที่ดิน-ป่าไม้ ยืนยัน 'ศรีพันวา' ไม่รุกป่า

กรมที่ดิน-ป่าไม้ ยืนยัน 'ศรีพันวา' ไม่รุกป่า

“อธิบดีกรมที่ดิน – ป่าไม้”การันตี"ศรีพันวา"ไม่ใช่ที่รัฐ-ที่ป่า ออกเอกสารสิทธิ์ถูกต้องซื้อต่อมาจากชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน จัดการประชุมโดยมีวาระพิจารณากรณีที่ดินโรงแรม ศรีพันวา จ.ภูเก็ต โดยมีนายอภิชาต ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ.ที่ดิน ฯ เป็นประธานการประชุม โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ประกอบด้วยนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปลัดจ.ภูเก็ต เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต เข้าร่วมชี้แจง โดยประเด็นสำคัญกรรมาธิการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา คือ ที่ดินดังกล่าวเป็นของรัฐหรือไม่ เป็นป่าหรือไม่ หากมีสิทธิครอบครอง กรรมสิทธิ์ในการครอบครองเป็นประเภทใด การออกเอกสารสิทธิเป็นไปโดยชอบหรือไม่ และมีการห้ามประชาชนเข้าใช้ชายหาดบริเวณโรงแรมหรือไม่

โดยนายสุพจน์ ชี้แจงเป็นคนแรก โดยนำแผนที่การดำเนินการของโรงแรมตั้งแต่ ปี 2546 มาแสดง พร้อมกล่าวว่า ศรีพันวาขออนุญาตก่อสร้างถูกต้อง และ ทุกครั้งที่จะมีการขยายแปลง จะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทุกครั้ง ซึ่งก็ไม่พบความผิดปกติ ส่วนกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนเรื่องการใช้ชายหาดนั้น พื้นที่ชายหาดเป็นที่สาธารณะที่ประชานเข้าได้ อย่างไรก็ตามบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่แคบและน้ำขึ้นสูง จึงแทบไม่มีพื้นที่ชายหาดให้ใช้ แต่ถ้าน้ำลดก็สามารถเข้าได้ตามกฎหมาย นอกจากนั้นพื้นที่ จ.ภูเก็ตมีมาตรการจัดระเบียบชายหาดอยู่แล้วจึงไม่มีเรื่องของผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง

นายสุพจน์ กล่าวว่า ได้ตรวจสอบแปลงที่ดินดังกล่าวแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยสั่งให้ดำเนินการ พบว่า ที่ดินของศรีพันวาภูเก็ตมี โฉนด 2 แปลง ที่เหลือเป็น น.ส. 3 ก. กว่า 57 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 79 ไร่ ส่วนการได้มาของที่ดิน จุดเริ่มต้นทั้งหมดมาจาก ส.ค. 1 ของประชาชนในพื้นที่ ก่อนออกเป็น น.ส. 3 ก. ยืนยันการซื้อขายเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ได้อยู่ในเขตป่าไม้ เขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่ราชพัสดุ แต่ยอมรับว่าพื้นดังกล่าวเป็นพื้นที่เขาและมีความลาดชัน แต่เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่า ได้ครอบครองมาก่อนประกาศพื้นที่ควบคุมเขตเขาและเขตลาดชัน

ด้านนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะตัวแทนกมธ. กฎหมายฯ กล่าวว่า จากข้อสงสัยของประชาชนขอให้กรมที่ดินส่งเอกสารสำเนาการขอออกโฉนดที่ดินและ น.ส. 3 ก. ในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งเอกสาร ส.ค. 1 และต้นขั้วทั้งหมดมาให้ กมธ. เพื่อจะได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป เพราะการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินต้องมีข้าราชการหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่ง จ.ภูเก็ตเคยมีกรณีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ดินเสียชีวิตระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คือนายธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าพนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต จึงอยากให้กรมที่ดินตรวจสอบว่านายธวัชชัยเกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินกรณีนี้ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงไม่มีการนำ น.ส. 3 ก.จำนวน 57 แปลงมาออกมาเป็นโฉนด ทั้งที่น่าจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ที่ดินได้มากกว่า และพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาอะไรหรือไม่

ขณะที่นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย ในฐานะกมธ. กล่าวว่า กรณีการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ จ.ภูเก็ตเกิดปัญหามาโดยตลอด เพราะมีการเอา ส.ค. 1 มาออกซ้ำวนไปมา เพราะที่ดินมีมูลค่ามหาศาล ตนขอให้อธิบดีกรมที่ดินำสำเนา ส.ค. 1 ที่ยังตกค้างอยู่และยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ์ที่อยู่ประมาณ 1,000 ฉบับมามอบให กมธ. เพื่อส่งต่อไปให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ ตรวจสอบ หากจะมีการออกเอกสารสิทธิ์ว่าทับซ้อนกับพื้นที่ป่าหรือไม่ เพราะเมื่อดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ไปแล้ว มีการก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ทมูลค่าเป็นพันๆ ล้านจะได้ไม่ต้องมารื้อถอนในภายหลัง

ด้านนายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ. กล่าวว่า ตนตั้งข้อสังเกตพื้นที่ดังกล่าวมีร่องรอยการทำกินมาก่อนหรือไม่ ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำภาพถ่ายทางอากาศปี 2546 มาแสดงเพื่อตรวจสอบ และเหตุใดการเอกสาร ส.ค.1 จึงไปขอออกบนภูเขาและพื้นที่ด้านล่างใกล้เคียงกันมีการขอออกเอกสารสิทธิ์หรือไม่ ทั้งนี้อยากเสนอให้ กมธ.ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า ส.ค. 1 เป็นนั้นเป็น ส.ค.บินมาหรือไม่ด้วย

ทั้งนี้ นายสุพจน์ ชี้แจงว่าประเด็นที่ กมธ. ตั้งคำถามถึงนายธวัชชัย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิ์ และซื้อขายที่ดินศรีพันวาหรือนั้น ขอยืนยันว่าทุกเอกสารมีที่ไปที่มาเป็นของชาวบ้านที่ครอบครองอยู่เดิมตาม ตามประมวลกฎหมายที่ดินปี 2497 และออกเอกสารสิทธิ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย และทุกแปลงไม่เกี่ยวกับนายธวัชชัย ซึ่งเขาไม่ได้อยู่ในช่วงเวลานั้น พิสูจน์ได้เอกสารแต่ละแปลงเจ้าพนักงานที่ดินต้องลงชื่อในเอกสารสิทธ์ที่ออกมามา และต้นข้อ ส.ค. 1 ของที่ดินศรีพันวาก็ได้นำมาแสดงต่อ กมธ.ในวันนี้แล้ว ทั้งนี้ในส่วน ส.ค. 1 ของทั้ง จ.ภูเก็ตจะส่งนำส่งให้กมธ. อีกครั้ง

ขณะที่ นายชีวะภาพ ชี้แจงในฐานะตัวแทนกรมป่าไม้ ยืนยันว่า โครงการศรีพันวา ตั้งอยู่นอกเขตป่าสงวนฯ ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน ตามมติ ครม. และอยู่นอกเขตอุทยานฯด้วย โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากป่าสงวนฯ 3 กม. โอกาสที่จะคาบเกี่ยวกันจึงไม่มี แต่ยอมรับว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพพื้นที่เป็นป่าตาม มาตรา 4 ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 แต่เมื่อมีเอกสารสิทธิ์แล้ว ก็ถือว่าไม่ได้มีสภาพเป็นป่า อย่างไรก็ตามกรมป่าไม้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกเอกสารสิทธิ์ ของโรงแรมศรีพันวา เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯ กรมป่าไม้จึงไม่ได้ร่วมในการพิจารณา ขณะที่ความลาดชัน ก็เป็นเรื่องที่กรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้ดูแล

อย่างไรก็ตาม กมธ. ส่วนใหญ่ยังคงตั้งคำถาม ว่า หากเป็นชาวบ้านทั่วไปสามารถทำแบบนี้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะลาดชันเกิน 35 องศาที่ใช้มาตรฐานใดในการกำหนด เช่นเดียวกับหากเป็นประชาชนทั่วไปขอออก น.ส. 3 ก. ในลักษณะนี้ก็ดำเนินการได้ได้ยากลำบากมาก ขณะที่ศรีพันวามีความพร้อมทุกด้านทั้งด้านฐานะและอื่นๆ เหตุใดจึงไม่นำเอกสาร น.ส. 3 ก.ที่จำนวน 57 แปลงไปขอออกโฉนด และที่ผ่านมาเคยมีการนำไปขอออกโฉนดหรือไม่ ซึ่งทาง จทน.ที่ดินภูเก็ต ชี้แจงว่า การจะขอออโฉนดหรือไม่เป็นสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ถ้าเขาไม่ประสงค์ออกเป็นโฉนดจะถือครอง น.ส. 3 ก. ก็ได้ ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบไม่เคยมีการยื่นออกโฉนดมาก่อน ซึ่งทั้งโฉนด และน.ส. 3 ก.ทั้งหมดเป็นการซื้อมาไม่ใช่บริษัทเอกชนเป็นคนของออกเอกสารสิทธิ์เอง ซึ่งเอกสาร ส.ค. 1 ที่นำมาแสดงเป็นการครอบครองมาก่อนปี 2494 โดยส.ค. 1 จำนวน 109 ไร่ มาออกเป็น น.ส. 3 ได้ราว 120 กว่าไร่

ต่อมานายอภิชาติ พร้อม กมธ. แถลงว่า กมธ.มีการข้อสังเกตใน 3 ประเด็น คือ 1. การได้มาของ ส.ค. 1 ได้มาอย่างไร และต้องมีการตรวจสอบต่อไป 2.ในประเด็นเรื่องความลาดชันเกิน 35 องศา ใช้มาตรฐานใดในการตรวจสอบ ซึ่งจะเชิญกรมพัฒนาที่ดินมาชี้แจงในสัปดาห์หน้า และ 3. ในเรื่องร่องรอยการทำกินและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่มีการก่อนการได้เอกสารสิทธิ์ต่างๆ หรือไม่ ดังนั้น กมธ.จึงจะเชิญกรมแผนที่ทหาร กรมป่าไม้ ให้นำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศในแต่ละชั้นปีมาชี้แจงต่อกมธ. รวมทั้งเชิญกรมเจ้าท่า มาชี้แจงกรณีการสร้างท่าเรือ และเชิญกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) มาชี้แจงถึงการตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย ในการประชุมครั้งหน้าด้วย

ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้ง ว่า กมธ. ได้รับทราบข้อมูลว่าข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารที่ถ่ายไว้เมื่อปี 2497 ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ลงไปได้สูญหาย เหลือเพียงภาพถ่ายเมื่อปี 2510 เป็นต้นมา จึงต้องไปรวบรวมภาพถ่ายทางอากาศจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งหมดมาเทียบเคียงกันว่ามีร่องรอยการทำกินตาม ส.ค. 1 ที่ทางผู้ขอออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินอ้างหรือไม่