เตรียมความพร้อม เศรษฐกิจอาจซึมยาว

เตรียมความพร้อม เศรษฐกิจอาจซึมยาว

มติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.5% ต่อปี ของ กนง. เป็นการส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายเตรียมรับมือภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญ โดยที่ กนง.คาดการณ์ด้วยว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจึงจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด

ความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้ (23 ก.ย.63) มีการส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายได้ปรับตัวเตรียมความพร้อมรับมือภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญในวันข้างหน้า โดยมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.5% ต่อปี กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวน้อยกว่าประมาณการเดิมคือลบ 8.1% มาอยู่ที่ลบ 7.8% แต่ในปี 64 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิม กนง.จึงปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีหน้าเหลือเพียง 3.6% จากเดิมที่ 5%

เหตุผลหลักที่เศรษฐกิจโตในระดับต่ำมาจากปัจจัยโควิดเป็นหลัก ในเมื่อการแพร่ระบาดที่ยังไม่มีจุดสิ้นสุด ทำให้ทั่วโลกยังต้องระวังความเสี่ยงกับการระบาดระลอกสอง ส่งผลกระทบต่อรายได้หลักของไทยที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ชะลอตัวลง จำนวนนักท่องเที่ยวจากที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ 16 ล้านคนต่อปี เหลือเพียง 9 ล้านคน กนง.ยังคาดการณ์ด้วยว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจึงจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด

กนง.แนะนำรัฐบาลออกมาตรการตรงจุดและทันสถานการณ์ เร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เราเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ถ้าให้ดีผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปต้องมีการพัฒนาตนเอง ฝึกฝนทักษะด้านดิจิทัล ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจ พร้อมกับสนับสนุนงบพัฒนาทักษะความรู้พนักงาน ให้สอดรับบริบทใหม่ของโลก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด หรือ ศบศ. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ในฐานะประธาน ส.อ.ท. เสนอขอพักหนี้ภาคเอกชนเป็นเวลา 2 ปี หลังจากมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.นี้ พร้อมขอให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ10 ของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด ส.อ.ท.อ้างเหตุผลโควิดทำให้ประสบปัญหาสภาพคล่อง กลายเป็นกระแสข้อเรียกร้องที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะนายแบงก์ไม่เห็นด้วย การขอพักหนี้ในระยะเวลา 2 ปี ถูกมองว่านานเกินไป

ทว่ามาถึงวันนี้ในสถานการณ์ที่โควิดยังคงเป็นปัญหาไปทั่วทุกมุมโลก อังกฤษต้องกลับมาล็อกดาวน์ประเทศ 6 เดือน การเดินทางระหว่างประเทศยังคงเป็นอัมพาต ระยะเวลาที่ กนง.และ ส.อ.ท.มองตรงกันว่าอีก 2 ปีเศรษฐกิจจึงจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม จึงอาจแม่นยำ เป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกฝ่ายพึงตระหนัก ทำอย่างไรไม่ให้สัญญาณครั้งนี้ กลายเป็นแรงกดดัน แต่เป็นสัญญาณให้คนไทย นักธุรกิจและรัฐบาล เร่งปรับตัว หากต้องการอยู่รอดอย่างผู้ชนะในโลกยุคใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ เราไม่อาจใช้ชีวิตหรือทำงานในรูปแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป การหยุดอยู่กับที่ อาจเท่ากับ การถอยหลังเข้าคลอง