อุตฯเหล็กเอเชียช้ำหนัก-เมินแผนปรับโครงสร้าง

อุตฯเหล็กเอเชียช้ำหนัก-เมินแผนปรับโครงสร้าง

อุตฯเหล็กเอเชียช้ำหนัก-เมินแผนปรับโครงสร้าง ขณะเจเอฟอี สตีลของญี่ปุ่น ประกาศปิดโรงงานถลุงเหล็กหนึ่งแห่งภายในปี2566 เพื่อลดกำลังการผลิตลงประมาณ 13%

ปลายเดือนก.ค.บริษัท“หัว เซน กรุ๊ป” เซอร์ไพรซ์แวดวงธุรกิจด้วยการประกาศพับโครงการก่อสร้างผลิตโรงงานถลุงเหล็กมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์

“สถานการณ์ขาลงในปัจจุบันทำให้เราไม่สามารถเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กตามที่วางแผนไว้ได้อีกต่อไป”แถลงการณ์จากบริษัทผลิตเหล็กเวียดนามระบุ โดยเมื่อปี 2559 กลุ่มบริษัทของเวียดนามเสนอโครงการนี้ ซึ่งมีความสามารถในการผลิตเหล็กได้ปีละ16 ล้านตัน ขณะที่ในจีน “เฉิน ตี้หรง” ประธานบริษัทเป๋าอู่ สตีล กรุ๊ป บริษัทเหล็กชั้นนำของจีน ประกาศแผนลงทุนระยะ5ปีมูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ในมณฑลหูเป่ย

การพับโครงการสร้างโรงงานของบริษัทหัว เซน และการเดินหน้าลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กของเป๋าอู่ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเหล็กโลกได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน กล่าวคือมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะโดยผู้ชนะคือบริษัทจีน ส่วนผู้แพ้เป็นบริษัทเหล็กสัญชาติอื่นๆ

การระบาดของโรคโควิด-19ฉุดความต้องการเหล็กทั่วโลกลดลงอย่างมากและหัว เซน ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวที่ตัดสินใจประกาศล้มเลิกโครงการสร้างโรงงานถลุงเหล็กเพื่อความอยู่รอด นิปปอน สตีลของญี่ปุ่น และปอสโก้ ของเกาหลีใต้ ต่างก็ปิดโรงงานถลุงเหล็ก พร้อมทั้งทบทวนแผนการลงทุนใหม่หมด

บรรดานักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ตอกย้ำให้เห็นว่าบรรดาผู้ผลิตเหล็กไม่มีการปฏิรูปโครงสร้าง"อัตสึชิ ยามากูชิ นักวิเคราะห์อาวุโสจากเอสเอ็มบีซี นิกโก ซิเคียวริตีส์ ให้ความเห็น

ขณะนี้ผู้ผลิตเหล็กในเอเชียจำนวนมากเร่งปิดโรงงานเหล็กที่มีต้นทุนสูงและลดกำลังการผลิต อย่างกรณีปอสโก้ ประกาศเมื่อเดือนก.ค.ว่าจะปิดโรงงานที่เมืองโปฮังซึ่งผลิตเหล็กได้ในปริมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี หรือ3% ของความสามารถในการผลิตเหล็กโดยรวมของปอสโก้ ทั้งยังบอกว่า บริษัทกำลังพิจารณาปิดโรงงานเพิ่่มหรือปรับปรุงโรงงานถลุงเหล็กแห่งอื่นๆภายในต้นปี 2568 ซึ่งคำประกาศนี้มีขึ้นหลังจากปอสโก้ประกาศว่าจะปิดโรงงานถลุงเหล็กครั้งแรกเมื่อสามปีก่อน แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นคำประกาศที่มีความจริงแฝงอยู่ เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19ทำให้ความต้องการเหล็กในประเทศดิ่งลงอย่างหนักและรายได้ของบริษัทร่วงลง 16% ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.

ในญี่ปุ่น ผลผลิตเหล็กรายปีน้อยมาก ไม่ถึง80 ล้านตันเป็นครั้งแรกในรอบ 52 ปี ทำให้บริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมเหล็กโลก ยกเว้นในจีน เผชิญภาวะขาดทุนสุทธิมหาศาล 160073676832

ในเดือนกพ. นิปปอน สตีล ประกาศปิดโรงงานถลุงเหล็กสองแห่งในฮิโรชิมาและวากายามา เพื่อความอยู่รอดในระยะสองสามปีข้างหน้า พร้อมทั้งทบทวนแผนการลงทุนใหม่อีกครั้ง อีกทั้งผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดของญี่ปุ่นรายนี้ ยังปรับลดเป้ารายได้ลง 300,000 ล้านเยน (2.8 พันล้านดอลลาร์)ในช่วงปี 2561-2563ด้วยพร้อมทั้งลดการใช้จ่ายด้านต่างๆทางธุรกิจ รวมถึง การลงทุน การควบรวมกิจการประมาณ 10% จากเป้าปี2561-2563 ที่กำหนดไว้ 600,000 ล้านเยน

“ เราต้องระมัดระวังมากขึ้นและเลือกกำหนดเป้าบนพื้นฐานความเป็นจริง”ตัวแทนบริษัทนิปปอน สตีล กล่าว

ด้านเจเอฟอี สตีล ผู้ผลิตเหล็กอันดับ2ของญี่ปุ่น ประกาศเมื่อเดือนมี.ค.ปิดโรงงานถลุงเหล็กหนึ่งแห่งภายในปี2566 เพื่อลดกำลังการผลิตลงประมาณ 13% การเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปโครงสร้างที่บริษัทประกาศในเดือนเดียวกัน

ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 บรรดาผู้ผลิตเหล็กนอกจีนก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กับผลกระทบที่เกิดจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่วนผู้ผลิตเหล็กสัญชาติจีน ได้อานิสงส์จากความต้องการเหล็กในประเทศที่เพิ่มขึ้นเพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปักกิ่งและการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ผลผลิตเหล็กในปี2562 ของจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์และคิดเป็นสัดส่วน 53% ของปริมาณผลิตเหล็กทั่วโลก

ขณะที่จีนซื้อแร่เหล็กเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในประเทศนั้น ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเหล็กของเอเชียรายอื่นๆ ก็บอบช้ำจากส่วนต่างกำไรที่ลดลง แถมถูกกดดันจากราคาวัตถุดิบที่ทะยานขึ้นและราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในตลาดโลกที่ผันผวน เมื่อมาเจอการระบาดของโรคโควิด ทำให้บริษัทจีนก้าวขึ้นมาเป็นจ้าวตลาดเหล็กโลก 160073679264

เมื่อมณฑลหูเป่ยล็อกดาวน์ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว โครงการก่อสร้างต่างๆหยุดชะงักและความต้องการเหล็กลดลงอย่างมาก แต่ทางการจีนแก้ปัญหาด้วยการจัดหาเงินช่วยเหลือและทุ่มเม็ดเงินลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กของจีนพื้นตัวในเวลาอันรวดเร็วและในเดือนก.ค. ผลผลิตเหล็กของจีนเพิ่มขึ้น 9.1% จากระดับของปีก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 93.36 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นผลผลิตเหล็กรายเดือนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่บริษัทเป๋าอู่ สตีล กรุ๊ป ของจีน เตรียมก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดของโลกในปีนี้เป็นครั้งแรก แทนที่อาร์เซลอร์มิททอล ผู้ผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ของยุโรปที่เป็นจ้าวตลาดเหล็กโลกมาช้านาน

เมื่อเดือนส.ค.ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในเอเชีย ที่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวขึ้น 20% จากเดือนเม.ย. ซึ่งผลผลิตเหล็กของจีนที่เพิมขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาแร่เหล็กเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากเดือนม.ค. ทำให้บริษัทผลิตแร่เหล็กชั้นนำของออสเตรเลียอย่างบริษัทฟอร์เตสคิว มีทัลส์ กรุ๊ป มีกำไรเพิ่ม

ด้านทาทา สตีล ของอินเดีย ก็ได้อานิสงส์จากความต้องการบริโภคเหล็กของจีนที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยทาทา สตีล ส่งออกเหล็กไปจีนเพิ่มขึ้นกว่า2เท่านับตั้งแต่เดือนเม.ย.แม้ว่าในความเป็นจริงจีนจะนำเข้าเหล็กน้อยมากในสัดส่วนแค่2% ส่วนใหญ่บริษัทจีนผลิตเองใช้เองมากกว่า

“ในความเป็นจริงแล้ว ตลาดเหล็กจีนค่อนข้างเป็นอิสระ นำเข้าเหล็กน้อยมาก บรรดาผู้ผลิตเหล็กญี่ปุ่นยังเจาะตลาดเหล็กจีนไม่ได้เลย”อีจิ ฮาชิโมโต ประธานสมาพันธ์เหล็กและแร่เหล็กญี่ปุ่นและประธานบริษัทนิปปอน สตีล กล่าว

160073681993