ส่องอาณาจักร 'SCB' หรือ 'ธนาคารไทยพาณิชย์' ในวันที่ต้องเผชิญดราม่า #แบนSCB

ส่องอาณาจักร 'SCB' หรือ 'ธนาคารไทยพาณิชย์' ในวันที่ต้องเผชิญดราม่า #แบนSCB

สำรวจอาณาจักรธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ "SCB" ในวันที่ต้องเผชิญดราม่า #แบนSCB หลังกระแส "การเมือง" เล่นงาน

กลายเป็นประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ เมื่อการเมืองทำพิษจน "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)" ตกอยู่ในสถานะองค์กรที่ถูกแบน สะท้อนจากเทรนด์ #แบนSCB ที่เริ่มจาก twitter และโซเชียลมีเดียต่างๆ ออกมารณรงค์ให้คนที่เห็นด้วย ร่วมแบน SCB ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้บริการต่างๆ จากธนาคารทุกช่องทาง เช่น ถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ปิดบัญชี ไม่ลงทุนกับทางธนาคาร ฯลฯ

160068407750

160068407783

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ศรีพันวา' เกี่ยวข้องกับ กองทรัสต์ SRIPANWA ที่ 'ประกันสังคม' ถือหุ้นอย่างไร

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า แล้วการแบนธนาคารในลักษณะนี้ กระทบต่อธนาคารมากน้อยแค่ไหน โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปผ่าอาณาจักร “ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ “SCB” ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่มีอายุรวมถึง 114 ปี ว่า ณ เวลาปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีสถานะอย่างไรบ้าง

ธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบันมีสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ ที่มีบริการทางด้าน การเงินครบวงจรให้แก่ลูกค้าทุกประเภท ทั้งที่เป็น บริษัทขนาดใหญ่ วิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกค้ารายย่อย ได้แก่ การรับฝากเงิน การโอนเงิน การให้กู้ยืมประเภทต่างๆ การรับซื้อลด การรับรองอาวัล ค้ำประกัน บริการด้านปริวรรตเงินตรา Bancassurance บริการด้านการค้าต่างประเทศ บริการ Cash Management บริการด้านธุรกิจหลักทรัพย์ อาทิ บริการจำหน่ายหุ้นกู้ การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ

160076668528

  •  SCB มีผู้ใช้บริการเยอะแค่ไหน 

แบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี 2562 (แบบ 56-1) ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) ระบุว่า เมื่อสิ้นปี 2562 ระบุไว้ดังนี้

- จำนวนผู้ใช้งาน SCB EASY แอพพลิเคชั่น Moblie Banking ของธนาคารจำนวน 10.5 ล้านราย
- ยอดธุรกรรม เฉลี่ย 135 ล้านรายการ/เดือน 
- จํานวนลูกค้าบุคคล
16.4 ล้านราย 

  •  สินทรัพย์ รายได้ และกำไรสุทธิ 

เมื่อมองไปถึงสินทรัพย์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ระบุดังนี้

- ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 3,111 พันล้านบาท
- มีเงินฝาก 2,255 พันล้านบาท
- มีสินเชื่อ 2,144 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารจดไทยพาณิชย์ได้ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ปัจจุบันหุ้นของธนาคาร ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย หุ้นสามัญ (SCB, SCB-F) หุ้นบุริมสิทธิ (SCB-P, SCB-Q) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ธนาคารมีมูลค่าหุ้น ตามราคาตลาด (Market Capitalization) 246,464 ล้านบาท ด้วย

สำหรับ รายได้และกำไร ของธนาคารไทยพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2562 ดังนี้

- รายได้รวม จำนวน 166,098 ล้านบาท
- มีกำไรสุทธิ 40,436 ล้านบาท

ขณะที่ครึ่งแรกปี 2563 มีรายได้รวม จำนวน 73,917 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ  17,611 ล้านบาท 

  •   SCB ใหญ่แค่ไหนในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 

ธนาคารไทยพาณิชย์ นับเป็นธนาคารขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทย ตามระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีธนาคารจดทะเบียนในตลลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 11 แห่ง โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 62 ระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีส่วนแบ่งการตลาดต่างๆ ดังต่อไปนี้

- สินทรัพย์ คิดเป็น 16.5% ของระบบธนาคารพาณิชย์
- สินเชื่อ 
คิดเป็น 17.1% ของระบบธนาคารพาณิชย์
- เงินรับฝาก คิดเป็น 17.3% ของระบบธนาคารพาณิชย์
- กำไรสุทธิ คิดเป็น 19.4% ของระบบธนาคารพาณิชย์

160068386639

  •  การปรับตัวของธนาคาร 

"ดิสรัปชั่น" ทำให้ธนาคารต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง และสร้างกลยุทธ์เพื่อเปิดรับโอกาสใหม่ๆ "ไทยพาณิชย์" เอง ก็มีการปรับตัวเพื่อเผชิญสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสถานการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ SCB วางกลยุทธ์ ต่อเรือเล็กแทนเรือใหญ่ นับตั้งแต่เริ่มประกาศลดพนักงาน และลดสาขา ช่วงเดือน ม.ค.61 โดยมีการตั้งเป้าว่าจะลดสาขาจาก 1,153 สาขาเหลือ 400 สาขา และลดพนักงานจาก 27,000 คน เหลือ 15,000 คน เนื่องจากต้องการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่การเป็น "ดิจิทัลแบงก์กิ้ง" อย่างเต็มรูปแบบ

ผ่านมาถึงปี 2563 การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยข้อมูล ณ เดือน ส.ค. 63 ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาลดลงเหลือ 914 สาขาแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าธนาคารไทยพาณิชย์จะบรรลุถึงเป้าหมายของการทรานส์ฟอร์มในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

นอกจากการปรับลดสาขา ธนาคารยังมีการปรับรูปแบบธนาคารบางส่วนมาอยู่ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น “ศูนย์บริหารความมั่งคั่ง” (Investment Center) “ศูนย์บริการธุรกิจเอสเอ็มอี” (Business Center) และ “ศูนย์บริการลูกค้า” (Service Center) 

รวมถึงการให้บริการจ่าย ถอน โอน ฝากเช็ค ฯลฯ ผ่านเครื่องอัตโนมัติที่สามารถทอนเงินได้ทุกบาททุกสตางค์กระจายไปยังจุดบริการต่างๆ มากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าการใช้กลยุทธ์แล่นเรือเล็ก หรือ การสร้าง New business model ผ่านการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เหล่าเทคคัมพานี และฟินเทคต่างๆ แทนการยึดติดกับสินทรัพย์ เงินฝาก หรือสาขาจำนวนมากในอดีต เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด

แม้การดราม่า #แบนSCB ในครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่เข้ามากระทบกับการดำเนินธุรกิจของ SCB ที่ต้องรับมือทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว แต่เป็นที่น่าจับมองตามองว่า ไทยพาณิชย์จะขับเคลื่อนองค์กร หรือสื่อสารกับผู้ใช้บริการรวมถึงพนักงานให้สามารถจัดการกับกระแสด้านลบ หรือต่อต้านของสังคมได้ให้ผ่านไปได้อย่างไร