'กัญญารัตน์ พลาดิศัย' ลงทุน ‘กระเป๋า’ แบรนด์เนม รุ่นไหนดี

'กัญญารัตน์ พลาดิศัย' ลงทุน ‘กระเป๋า’ แบรนด์เนม รุ่นไหนดี

กัญญารัตน์ พลาดิศัย เปิดประสบการณ์ถ้าจะซื้อ “กระเป๋า” แบรนด์เนมเพื่อการลงทุน ทำไมเลือก “Hermes” เปิดสถิติ “เบอร์กิ้น” ในรอบ 35 ปีผลกำไรเติบโตมากกว่าที่ ‘เอสแอนด์พี 500’ ทำได้ ทำไมจะเป็นสมาร์ทบายเออร์ต้องรู้จริง อย่าเรียกเหมารวมว่า “กระเป๋าหนังจระเข้”

ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่หลายคนมอง กระเป๋าแบรนด์เนม เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เพราะถ้าหากจะได้มาครอบครองแต่ละใบ ต้องกำเงินเป็นตัวเลข ‘หกหลักหรือ เจ็ดหลักไปแลกมา มากไปกว่านั้น...แม้มีเงิน ก็ใช่ว่าจะเดินเข้าไปซื้อได้ทันที แต่ต้องใส่ชื่อไว้ในลำดับคิวรอซื้อ

ถือแล้วเป็นอย่างไร กระเป๋าราคาหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น ก็ใช้ใส่สิ่งของได้เหมือนกัน

แต่เหรียญอีกด้าน.. การซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมราคาหลักแสน-หลักล้าน คือการลงทุนประเภทหนึ่ง ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินในธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ย ชนะแม้กระทั่งอัตราเติบโตของผลกำไรจากการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์!

ผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ กัญญารัตน์ พลาดิศัย เก็บข้อมูลเรื่องนี้มาโดยตลอด และพบว่าการซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า เพียงแต่ต้องรู้ว่ากระเป๋ารุ่นไหนน่าเก็บ โดยกล่าวว่า การซื้อแบรนด์เนม มีหลักการคล้ายกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์

“ก่อนลงทุนซื้อคอนโดมิเนียม อย่างแรกเราต้องดูว่าตึกนี้มีดีมานด์ไหม (demand ปริมาณความต้องการซื้อสินค้า) พรีเมียมไหม โลเคชั่นเป็นอย่างไร อาฟเตอร์เซอร์วิสเป็นอย่างไร เพราะเราต้องใช้เงินหกหลัก-เจ็ดหลักกว่าจะได้คอนโดสักที่

ซึ่งเหมือนกับลักชัวรี่แบรนด์ เวลาเลือกกระเป๋าสักใบ เราต้องดูว่ากระเป๋าใบนี้คนต้องการหรือเปล่า ซัพพลายมีแค่ไหน (supply ปริมาณสินค้าที่มีเสนอขาย) เราต้องดูว่าพรีเมียมไหม ต่อยอดได้ไหม ไม่ใช่ซื้อมาแล้วจบเลย หกหลักเจ็ดหลักกลายเป็นศูนย์ แบบนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่น่าลงทุน”

แบรนด์เนมหรูน่าลงทุนที่กัญญารัตน์เลือกนำมายกตัวอย่างวันนี้คือ แอร์เมส (Hermes) แบรนด์เนมหรูสัญชาติฝรั่งเศสที่มีประวัติยาวนานต่อเนื่องโดยก่อตั้งแบรนด์มาตั้งแต่ปีค.ศ.1837

160061949838

กัญญารัตน์ พลาดิศัย รับคำเชิญ "หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ" บรรยายทางเลือกการลงทุน เรื่อง “สะสมกระเป๋าแบรนด์เนม สร้างมูลค่าทางใจ รุ่นไหนน่าเก็บ”

“ผ่านมา 183 ปี วันนี้แอร์เมสยังยืนหนึ่ง ไม่แผ่ว ไม่จางหายไปจากโลกนี้ ความต้องการมากขึ้นด้วยซ้ำ สังเกตหุ้นในตลาดฯ มั้ยคะ ขึ้นแล้วก็ลง มีติดตอย แต่ตลาดสินค้าแบรนด์เนม โดยเฉพาะแอร์เมส ที่ผ่านมาราคาไม่เคยลง ขึ้นตลอด เมื่อสิบปีที่แล้วเคยคิดว่าอยากจะได้แอร์เมสใบนี้มาก(เบอร์กิ้น) รอให้ราคาลง แต่ ณ วันนี้ ราคาก็ยังไม่ลง จนเรารู้สึกว่าวันนี้ล่ะเราต้องตัดสินใจ เราต้องมีใบหนึ่งในพอร์ตโฟลิโอ” กัญญารัตน์ กล่าว

แอร์เมส สร้างแบรนด์จากการขายอานม้า เครื่องหนังในกีฬาโปโล สินค้าเครื่องหนังประเภทกระเป๋าและแอคเซสซอรี่ส์เพิ่งเริ่มต้นในศตวรรษที่ 20

กระเป๋าที่สร้างชื่อให้แอร์เมสและมีศักยภาพในการลงทุน คือกระเป๋าที่ได้รับการตั้งชื่อว่า เคลลี่ (Kelly) และ เบอร์กิ้น (Birkin) อันโด่งดัง

เคลลี่ มีจุดกำเนิดจากการที่ มร.เธียร์รี่ แอร์เมส (Thierry Hermès) ผู้ก่อตั้งแบรนด์อยากทำ กระเป๋าถือสตรีให้ภรรยาไว้ใช้ และวางจำหน่ายเรื่อยมา 7-8 ปี ก็ยังไม่มีชื่อเสียงใดๆ วันหนึ่งในปี 1956 เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก (พระนามเดิม Grace Kelly) ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ ไม่ประสงค์ให้ปาปารัสซี่ถ่ายรูป จึงถือกระเป๋าเพื่อบังพระครรภ์ในการออกงาน หลังภาพข่าวตีพิมพ์ออกไป ทุกคนอยากรู้กระเป๋าใบงามที่เจ้าหญิงถือคือกระเป๋าอะไร และพากันเรียกกระเป๋าถือใบนี้ว่า “กระเป๋าเคลลี่”  กลายเป็นที่มาของชื่อกระเป๋ารุ่นนี้ของแอร์เมสและทำให้แอร์เมสดังกระจายทั่วโลกภายในหนึ่งวัน เรื่องนี้ผ่านมา 60 ปี แต่วันนี้กระเป๋าเคลลี่ก็ยังคงดังอยู่ไม่เสื่อมคลาย

เบอร์กิ้น  เพิ่งดังไปทั่วโลกเมื่อ37 ปีที่แล้ว เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อครั้ง เจน เบอร์กิ้น (Jane Birkin)  นักแสดงและนางแบบชื่อดังเชื้อสายฝรั่งเศส-อังกฤษ ซึ่งชอบถือกระเป๋าสาน (straw bag)จนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว  ในการเดินทางเที่ยวบินหนึ่ง เบอร์กิ้นเก็บกระเป๋าสานไว้ที่ช่องเก็บของเหนือที่นั่ง แต่บังเอิญกระเป๋าหล่นลงมา ข้าวของในกระเป๋าตกกระจาย เธอต้องตามเก็บของไปทั่วพื้น จึงปรารภกับผู้โดยสารเก้าอี้ข้างๆ ว่า..อยากได้กระเป๋าสักใบ ที่เดินทางก็เก๋ มีสไตล์ และตั้งได้.. สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือ ด้วยความบังเอิญ ผู้โดยสารที่นั่งข้างๆ คือ มร.ฌอง หลุยส์ ดูมาร์ (Jean-Louis Dumas) ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ของแอร์เมส เขาจึงหยิบ แอร์ ซิกเนส แบ็ค (air sickness bag ถุงอาเจียนบนเครื่องบิน) มาใช้สเก็ตช์ภาพกระเป๋าที่ตั้งได้ วางตั้งบนเครื่องบินก็ไม่ล้ม และมีสไตล์ ให้เจน เบอร์กิ้นดู และเธอก็ชื่นชอบเป็นอันมาก เป็นที่มาของดีไซน์และชื่อกระเป๋าในดวงใจของผู้หญิงค่อนโลก

160062038874

กระเป๋าเบอร์กิ้น 1 ใบ ใช้เวลาทำ 48 ชั่วโมง ไม่ใช่ทำเสร็จใน 2 วัน แต่ทำอย่างน้อย 6 วัน เพราะคนทำกระเป๋ามีเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง/วัน

“คนทำกระเป๋าเรียกอะเตอลิเยร์ (atelier) และไม่ใช่ใครก็ได้ที่เขียนใบสมัครเข้ามา ไม่ได้ประกาศรับสมัครงาน กว่าจะเป็นอะเตอลิเยร์ของแอร์เมสต้องฝึกและสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นในครอบครัว” กัญญารัตน์ กล่าว

160062165258

ที่พิเศษมากไปกว่านั้น กระเป๋าแอร์เมสทุกใบมี  year stamp และ ตัวเลข ที่อยู่หลังเยียร์สแทมพ์คือเลขประจำตัวของอะเตอลิเยร์แต่ละคน

“ถ้ากระเป๋าเสียหาย อยากจะซ่อม หรือกระเป๋าเราเป็นอะไรก็แล้วแต่ เขาจะส่งกลับไปที่ฝรั่งเศส ให้อะเตอลิเยร์คนที่เย็บกระเป๋าของเรา เขาคิดว่าคนเย็บกระเป๋าต้องรู้จักกระเป๋าใบนั้นดีที่สุด” กัญญารัตน์กล่าวและแนะนำเพิ่มเติมว่า กระเป๋าบางรุ่นไม่อยากให้ส่งทำสปากระเป๋า เพราะเมื่อช็อปแอร์เมสส่งกระเป๋าไปที่ฝรั่งเศส เขาไม่ได้มองด้วยตา แต่มีเครื่องสแกน ถ้ากระเป๋า ‘ไม่ออริจินัลฝรั่งเศสจะตีกลับทันที

นอกจากรุ่นกระเป๋าอันเป็นตำนาน หนังสัตว์ที่ใช้ทำกระเป๋า ก็เป็นความพรีเมียมและข้อมูลที่นักลงทุนแบรนด์เนมต้องมีความรู้ เพื่อการประเมินราคาและการตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง

“หนังสัตว์ที่ถือว่าเป็นงาน เอ็กซอติก (exotic) ของแอร์เมสมีหลายแบบ คือหนังอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่หนังวัว หนังแกะ หนังหมู หนังแพะ แต่เป็นหนังหายาก เช่นหนังนกกระจอกเทศ หนังลิซาร์ด (lizard) รวมทั้ง ‘หนัง’ ที่คนรู้จริงจะไม่เรียกเหมารวมว่า ‘หนังจระเข้’ อีกต่อไป เพราะบางตัวไม่ใช่จระเข้”

160062020999

คุณทราบหรือไม่ว่า ...ใบไหนหนังแอลลิเกเตอร์ ใบไหนหนังครอคโคไดล์

หลายคนเรียกเหมารวม ‘กระเป๋าหนังจระเข้’ แต่ความจริงและถ้าสังเกตดีๆ จะพบความแตกต่างว่าแอร์เมสใช้หนังตระกูล แอลลิเกเตอร์ (Alligator) กับหนังตระกูล ครอคโคไดล์ (Crocodile) 

ครอคโคไดล์หรือ ‘จระเข้’ ไม่ใช่สัตว์ตระกูลแอลลิเกเตอร์

แอลลิเกเตอร์ เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เติบโตในน้ำจืด มีถิ่นที่อยู่อาศัยทางอเมริกาเหนือ ลักษณะปากเป็นรูป ตัวยู (U) ถ้าเป็นครอคโคไดล์ลักษณะปากเป็นรูป ตัววี (V)

แต่ไม่ว่าจะเป็นแอลลิเกเตอร์และครอคโคไดล์ หนังส่วนที่ใช้ทำกระเป๋าได้คือ หนังบริเวณหน้าท้อง เท่านั้น และหนังส่วนหน้าท้องนี่เองที่ทำให้บอกได้ว่ากระเป๋าใบนั้นทำจากหนังแอลลิเกเตอร์หรือทำจากหนังครอคโคไดล์ เนื่องจากลายของหนังมีความแตกต่างกัน

  • ลักษณะหนังหน้าท้องของแอลลิเกเตอร์มี สเกลที่ใหญ่ตรงกลาง ขนาบด้วยสเกลที่เล็กลงสองข้างซ้ายขวา
  • ขณะที่ลักษณะหนังหน้าท้องของครอคโคไดล์ ไม่มีสเกลที่ใหญ่ตรงกลาง แต่สเกลจะมีขนาดใกล้เคียงกันทั้งผืน

แอร์เมสยังเป็นบริษัทเดียวที่ทำ เอ็มบอส (embossed เครื่องหมายลายนูน) บอกสายพันธุ์หนังจระเข้ที่ใช้ทำกระเป่า ประทับลงบนกระเป๋า

160061973455

กระเป๋าเบอร์กิ้น หนังนิโลติคัส

160062224248

เอ็มบอสเป็นรูป double dot

แอร์เมสใช้หนัง ครอคโคไดล์ อยู่ 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์ นิโลติคัส (Niloticus) เอ็มบอสเป็นรูป double dot (จุด จำนวน 2 จุด) กับพันธุ์ โพโรซุส (Porosus) เอ็มบอสเป็นรูปเครื่องหมาย caret (รูปตัววีคว่ำ)

ขณะที่กระเป๋าซึ่งทำจากหนัง แอลลิเกเตอร์ เอ็มบอสเป็นรูปเครื่องหมาย สี่เหลี่ยม (square)

แต่ไม่ว่าจะเป็นหนังแอลลิเกเตอร์หรือครอคโคไดล์ จะเป็นแบรนด์แอร์เมสหรือแบรนด์เนมใดๆ สิ่งที่ต้องได้มาพร้อมกระเป๋าคือเอกสาร ไซเตส (Cites อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์) ถ้าไม่มีถือว่าผิดกฎหมาย ห้ามซื้อ

160062011291

สาธิตพันหูกระเป๋าเบอร์กิ้น หนังแอลลิเกเตอร์ ด้วย Hermes Twilly ป้องกันหูกระเป๋าเปรอะเปื้อน และเหมือนได้เปลี่ยนกระเป๋าใหม่

“กระเป๋าที่ทำด้วยหนังแอลลิเกเตอร์ราคาแพงมาก แต่นิโลติคัสแพงกว่า ตัวที่แพงที่สุดในความฝัน..ถ้ากัญญารัตน์จะลงทุนในเอ็กซอติกใบต่อไป จะซื้อโพโรซุส เพราะพรีเมียมที่สุด ความละเอียดของลายเม็ดผิว (grain) ละเอียดยิบ ซึ่งหายาก” กัญญารัตน์ กล่าว

การรู้ข้อมูลเกี่ยวความแตกต่างของหนังสัตว์ประเภทต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมเพื่อการลงทุน เช่น ถ้ามีผู้มาเสนอขายกระเป๋าหนังที่เราดูออกว่าเป็น หนังแอลลิเกเตอร์ แต่บอกราคาแพงกว่านิโลติคัส เราก็ไม่ควรลงทุนซื้อไว้ หรือถ้าต้องการซื้อ เราก็จะรู้ ว่าควรลงทุนซื้อที่ราคาเท่าใดจึงเหมาะสม

จากการสะสมกระเป๋าแบรนด์เนมเพราะความชอบ กัญญารัตน์กล่าวด้วยว่า วันนี้เธอไม่ได้มองแค่ว่าได้ซื้อกระเป๋าแอลลิเกเตอร์หรือครอคโคไดล์ แต่มองว่ากระเป๋าเหล่านี้คือ สินทรัพย์ เพราะสิ่งนี้เพิ่มมูลค่าและต่อยอดได้

“เว็บไซต์ซื้อขายกระเป๋าระดับโลกระบุว่า ราคาเบอร์กิ้นใน 35 ปีที่ผ่านมา ขึ้นไปแล้ว 500% เรานั่งคำนวณดูว่าปีหนึ่งขึ้นไป 14% ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นนิวยอร์ก ในรอบ 35 ปีที่ผ่านมา ‘เอสแอนด์พี 500’ ทำได้ 12% เท่านั้นเอง”

160061981350

กัญญารัตน์ พลาดิศัย และผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “Alternative Investment Season 1”

นี้เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่ กัญญารัตน์ พลาดิศัย รับคำเชิญหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ นำความความรู้ เทคนิค ประสบการณ์ทุกอย่างส่วนตัว มาเป็นวิทยากรใน หลักสูตร Alternative Investment Season 1 ทางรอดฝ่าวิกฤตกับสินทรัพย์ทางเลือก ในหัวข้อ สะสมกระเป๋าแบรนด์เนม สร้างมูลค่าทางใจ รุ่นไหนน่าเก็บ” ที่กรุงเทพธุรกิจเปิดพื้นที่ให้ผู้มีความชอบและความสนใจเฉพาะด้าน ได้เข้าแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันประสบการณ์การลงทุน เพื่อต่อยอด สร้างมูลค่า และโอกาสสู่ความมั่งคั่ง เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2563 ณ ห้องสโรชา 1-2 โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพ

ยังมีข้อมูลลึกๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายเกี่ยวกับการลงทุนกระเป๋าแบรนด์เนม เช่น กระเป๋าสีใดบ้างที่ตลาดต้องการ..ซื้อไว้ไม่ผิดหวัง ทำไมกระเป๋าหิมาลายันจึงเป็นที่สุดของกระเป๋าหนังเอ็กซอติก ผู้สนใจเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรครั้งต่อๆ ไป ติดตามข่าวสารได้ที่ www.bangkokbiznews.com

มีทางเลือกการลงทุนที่เกิดจากความชอบส่วนตัวแนวทางอื่นๆ รออยู่อีกมากมาย

 * * *

-: เรื่องที่คุณอาจสนใจ :-

'Maison Kitsuné' เปิดบ้านหมาจิ้งจอกหลังแรกในกรุงเทพฯ

‘Vitra’ นั่งนี้โลกต้องจำ

‘แชดวิก โบสแมน’ กับ 5 ชุดบนพรมแดงในความทรงจำ

จากเรื่องราว ‘ไทยๆ’ สู่สตรีทแฟชั่น