‘เจฟินเทค’รุกสินเชื่อรายย่อย หวังขึ้นแท่น‘ท็อปไฟว์’ภายใน5 ปี

‘เจฟินเทค’รุกสินเชื่อรายย่อย หวังขึ้นแท่น‘ท็อปไฟว์’ภายใน5 ปี

“เจฟินเทค” เล็งจับมือ “เคบีกุกมิน” รุกตลาดสินเชื่อรายย่อยในประเทศไทย  หนุนผลดำเนินงานเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% พร้อมตั้งเป้า 5 ปี  ติดอันดับ 1 ใน 5  ลั่นปี 65 เตรียมยื่นไฟลิ่งระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

จากที่บริษัท KB Kookmin Card Co., Ltd ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตการ์ด และสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ซึ่งจะเข้ามาถือหุ้นของ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J FINTECH) ในสัดส่วน 49% และหุ้นบุริมสิทธิ ทำให้มีสิทธิออกเสียง 51% หากทาง KB ได้รับอนุมัติการลงทุนในต่างประเทศของทางการเกาหลีใต้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

นายกิติพัฒน์ ชลวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J FINTECH)  เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในช่วงแรกทาง KB จะมาช่วยให้บริษัทเข้าถึงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ได้ ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทำให้ต้นทุนกู้เงินในอนาคตลดลงเหลือ 2.5% จากปกติบริษัทต้องกู้เงินจากบริษัทแม่ หรือเจมาร์ท ด้วยต้นทุนเฉลี่ยที่ 4-5%

ทั้งนี้บริษัทคาดว่า ภายในระยะเวลา 4-5 เดือนหลังจาก KB เข้ามาบริษัทจะสามารถดำเนินการเปลี่ยนวิธีการกู้เงิน มากู้จากธนาคารพาณิชย์แทน เพื่อคืนเงินกู้บริษัทแม่เต็มจำนวน 2,800 ล้านบาท ก่อน เพราะตามแผนระยะยาวแล้ว บริษัทจะเปลี่ยนเป็นบริษัทลูกของ KB และเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2565 คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งปีหน้า นอกจากนี้ ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้ยังมีเงินเหลืออีกราว 50 ล้านบาท สามารถใช้เป็นเงินลงทุนอื่นๆ หรือปล่อยกู้เพิ่มเติมได้

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจทาง KB ในไทยระยะ 2 ปีข้างหน้า (ปี2564-2565) นายกิติพัฒน์ กล่าวว่า ในปี 2564 จะเป็นการนำระบบเทคโนโลยีมาสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อคอนซูมเมอร์ไฟแนนซ์และบัตรเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น สอดคล้องกับสินเชื่อดิจิทัล ขณะเดียวกันมุ่งขยายฐานสินเชื่อบุคคลในกลุ่มฐานราก หรือ ตลาดไมโครไฟแนนซ์ ผ่านช่องทางหน้าร้านเจมาร์ทและตัวแทนขายซิงเกอร์ 

ส่วนในอนาคตอาจขยายการปล่อยสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ ด้วย เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อธุรกิจ เน้นเจาะกลุ่มธุรกิจสัญชาติเกาหลีใต้ ในไทย ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ส่วนธุรกิจบัตรเครดิตจะเริ่มได้เต็มรูปแบบในปี 2565 โดยตั้งเป้าหมายในระยะ 5 ปี (2564-68) ข้างหน้าสามารถขึ้นเป็นผู้นำ 1 ใน 5 ของธุรกิจสินเชื่อรายย่อย 

นายกิติพัฒน์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ปี 2564 -2565) คาดสินเชื่อและกำไรจะเติบโตเป็นเลขสองหลัก หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก บริษัทมีต้นทุนการเงินลดลง   ส่วนปีนี้คาดว่าบริษัทจะมีกำไรมากกว่าปีก่อน เนื่องจาก ขณะนี้ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่แนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4  ทำให้คาดว่าทั้งปีนี้จะมียอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าที่ 500 ล้านบาท  แม้ลดลง 20% จากปีก่อนที่ทำได้ 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันบริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างราว 3,900 ล้านบาท เติบโต 10% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน