จับตานำเข้า 'อิเล็กทรอนิกส์มือสอง' ขยะในอนาคต ที่ไทยไม่ควรมองข้าม

จับตานำเข้า 'อิเล็กทรอนิกส์มือสอง' ขยะในอนาคต ที่ไทยไม่ควรมองข้าม

ไม่เพียงแต่การห้ามนำเข้า "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" จากต่างประเทศเท่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะจับตานำเข้า "อิเล็กทรอนิกส์มือสอง" มูลค่ากว่า 59 ล้านดอลลาร์ อาจกลายเป็นขยะในอนาคต

หลังจากมีผลบังคับใช้ไปเมื่อไม่นานนี้ สำหรับประเด็นของการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประกาศของกระทรวงพาณิชย์เผยแพร่ออกมา เรื่องกำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ..2563 นั้น

ล่าสุดข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์กรณีนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้กระทรวงพาณิชย์จะประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังคงต้องจับตาการนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้วหรือสินค้ามือสอง ที่อาจกลายเป็นขยะในประเทศไทยได้ในอนาคต

ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันก่อนว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประกาศดังกล่าวคืออะไร? ครอบคลุมประเภทไหนบ้าง? ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือเศษที่มีส่วนประกอบกอบ ได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า แบตเตอรี่อื่นๆ สวิทช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีบีซี หรือปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล เป็นต้น

โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์จัดเป็นกลุ่มของเสียภายใต้อนุสัญญาบาเซลที่ไม่สามารถใช้งานได้และสารพิษ สารอันตราย รวมถึงยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรีไซเคิลได้น้อย

โดยปี 2562 ไทยนำเข้าสิ่งเหล่านี้ราว 0.6 ล้านดอลลาร์ และเป็นปริมาณที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีมูลค่าการนำเข้าขยะสูงถึง 13.9 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าที่นำเข้าหลักๆ ได้แก่ หลอด LED แผงควบคุมกระแสไฟฟ้า วงจรรวม หลอดไดโอท และอุปกรณ์ทำความร้อน

แต่ในทางกลับกัน ไทยมีการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว หรือสินค้ามือสอง คิดเป็นมูลค่าค่อนข้างสูงราว 59.1 ล้านดอลลาร์ เป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานสั้นและสุดท้ายจะกลายเป็นขยะที่ต้องมีต้นทุนในการกำจัดอยู่ดี แม้จะมีบางส่วนที่ใช้งานได้ หรือนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลผ่านการคัดแยกโลหะที่มีค่าเพื่อนำออกมาใช้ใหม่ก็ตาม

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า การที่ภาครัฐออกมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเข้มงวดการนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มือสองด้วย โดยเฉพาะสินค้ามือสอง HS code 84 และ HS 85 เฉพาะรหัสสถิติ 800 ที่มีการนำเข้าในปริมาณสูง และจะกลายเป็นขยะในอนาคต