ครบแล้ว! ล่ารายชื่อ 5 หมื่นคน 'แก้รัฐธรรมนูญ'

ครบแล้ว! ล่ารายชื่อ 5 หมื่นคน 'แก้รัฐธรรมนูญ'

ครบแล้ว! iLaw จัดกิจกรรมล่ารายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อเสนอ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ฉบับประชาชน ชู 5 ข้อยกเลิก และ 5 ข้อแก้ไข 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ( iLaw ) จัดกิจกรรมเปิดตัวล่ารายชื่อประชาชนให้ครบ 50,000 รายชื่อเพื่อ "แก้รัฐธรรมนูญ" ภายใต้แคมเปญ "50,000 ชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ" เมื่อวันที่ (7 ส.ค.ที่ผ่านมา)

ล่าสุด วันนี้(13 ก.ย.63) ทีมงานโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ( iLaw ) แจ้งว่า ครบแล้ว!! การล่ารายชื่อ "แก้รัฐธรรมนูญ" ได้เดินทางมาเกินกว่า 50,000 ชื่อแล้ว!

แม้ว่าจะได้เกินกว่า 50,000 ชื่อแล้ว แต่เรายังไม่หยุด ยิ่งจำนวนมากขึ้นเท่าไหร่ เสียงของเราทุกคนยิ่งส่งไปถึงสภาได้มากขึ้นเท่านั้น อย่าลืมมาร่วมกันลงชื่อ #แก้รัฐธรรมนูญ ช่องทางไปรษณีย์ส่งมาได้ถึงวันที่ 19 กันยายน 2563 และมาร่วมกันลงชื่อที่จุดตั้งโต๊ะงานสุดท้ายได้ในวันที่ 19 กันยายน 2563 เช่นกัน

มาร่วมกันเติมดวงดาวให้ทั่วท้องฟ้า เพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ "รื้อ" ระบอบอำนาจของ คสช "สร้าง" หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางให้ "ร่าง" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการมีส่วนร่วมของประชาชน

https://50000con.ilaw.or.th/

โดยข้อเสนอ ดังนี้

ยกเลิก 1 ปิดทาง ‘นายกฯ คนนอก’
ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งยังเปิดทางให้สภาเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างที่ยังมีวุฒิสภาชุดพิเศษ ของ คสช. เป็นเสียงสำคัญในการลงมติ
 
ยกเลิก 2 บอกลา ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’
ยกเลิกมาตรา 65 และ 275 ที่ให้ คสช. แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขีดชะตาอนาคตประเทศด้วยการกำหนดให้การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน / นโยบายรัฐบาล / การทำงานของหน่วยงานราชการ ต้องเป็นไปตามแผนการนี้
 
ยกเลิก 3 ไม่ต้องมี ‘แผนปฏิรูปประเทศ’
ยกเลิก หมวด 16 การปฏิรูปประเทศด้วยแผนที่เขียนโดยคนของ คสช. คลายล็อคที่กำหนดให้ ครม. ต้องคอยแจ้งความคืบหน้าการทำตามแผนปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน ตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตาม / เสนอแนะ / เร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศ
 
ยกเลิก 4 ผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษ
ยกเลิกมาตรา 252 ที่กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถได้มาโดย ‘วิธีอื่น’ นอกจากการการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น เพื่อกลับไปสู่ระบบเลือกตั้งท้องถิ่นตามปกติ
 
ยกเลิก 5 พังเกราะคุ้มครอง คสช.
ยกเลิกมาตรา 279 ที่ยังเป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยตัว ไม่ต้องรับผิด กำหนดให้การกระทำทุกอย่างของคสช ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไป
 
แก้ไข 1 นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.
ตัดระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกฯ ได้ และแก้ไขให้นายกฯ ต้องเป็นส.ส.เท่านั้น
 
แก้ไข 2 ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. และแก้ไขให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ลดจำนวนเหลือ 200 คนและใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง การคำนวณจำนวน ส.ว. ต่อหนึ่งจังหวัดยึดระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2540
 
แก้ไข 3 แก้กระบวนการสรรหาคนในองค์กรตรวจสอบ
ปรับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระจากที่ให้คนในองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเอง เปลี่ยนมาเป็นกระบวนการสรรหาให้เหมาะสมตามภารกิจของแต่ละองค์กร ยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนของ คสช. ทั้ง 7 ฉบับ 10 ฉบับ? ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกกต. ชุดใหม่ โดยวิธีตามรัฐธรรมนูญ 2540 
 
แก้ไข 4 ปลดล็อคกลไกแก้รัฐธรรมนูญ
ตัดอำนาจ ส.ว.ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้การแก้ไขอาศัยเพียงเสียงของสองสภารวมกัน ไม่บังคับต้องทำประชามติ
 
แก้ไข 5 เปิดทางตั้ง สสร. ร่างใหม่ทั้งฉบับ
ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. 200 คน เป็นรายบุคคลหรือเป็นตัวแทนกลุ่มก็ได้ ประชาชน 1 คนเลือก สสร. ได้เพียง 1 คนหรือ 1 กลุ่ม โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สสร. ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน

ทั้งนี้ iLaw แจ้งเพิ่มเติมว่า "แต่เรายังไม่หยุดรับรายชื่อ ยิ่งจำนวนมากขึ้นเท่าไหร่ เสียงของเราทุกคนยิ่งส่งไปถึงสภาได้มากขึ้นเท่านั้น อย่าลืมมาร่วมกันลงชื่อ #แก้รัฐธรรมนูญ วันที่ 19 ก.ย. นี้ ตั้งโต๊ะวันสุดท้าย ไปรษณีย์ขอให้ส่งภายใน 19 ก.ย. เช่นกัน"