วัคซีนโควิดสะดุด ไทยต้องผนึกกำลัง

วัคซีนโควิดสะดุด ไทยต้องผนึกกำลัง

ขณะนี้หัวใจของการสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในเวลาเดียวกันคือความสามัคคี หลังจากความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้องหยุดชะงักลง เมื่อแอสตร้าเซนเนก้าประกาศยุติการทดสอบ ซึ่งสร้างความอ่อนไหวไปทั่วโลก และไม่รู้ว่าโควิด-19 จะหมดสิ้นเมื่อไหร่

ความล้มเหลวในการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า กลายเป็นข่าวร้ายที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทุกวงการ การประกาศระงับการทดลองวัคซีนของบริษัทยารายใหญ่ของอังกฤษครั้งนี้ ไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อการผลิตทดลองวัคซีนตัวอื่น ทั้งของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนของบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทดลองทางคลินิก ยังสร้างความอ่อนไหวไปทั่วโลก สะท้อนได้จากการที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคติดลบกันถ้วนหน้า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ขณะนี้ แม้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการเร่งผลิตวัคซีนเพื่อควบคุม แต่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ตัดสินใจยุติทำการทดสอบ ภายหลังผู้เข้ารับการทดลองมีอาการป่วยรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกระบวนการ พร้อมเปิดทางให้ทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัย โดยเบื้องต้นทีมนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าลักษณะของปัญหาด้านความปลอดภัย คืออะไรและเกิดขึ้นเมื่อไหร่

เกี่ยวกับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าและความชะงักงัน ถือเป็นปัจจัยชี้เป็นชี้ตายว่าโควิด-19 จะหมดสิ้นเมื่อไหร่ ไม่ใช่แค่ความหวังของมนุษยชาติ แต่ยังเป็นโอกาสทางการค้าของบริษัทยาที่กำลังแข่งขันเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และเป็นตัวแปรชัยชนะในการช่วงชิงเก้าอี้ผู้นำหลายประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง จึงไม่แปลกหากข่าวความล้มเหลวในการทดสอบวัคซีนสร้างความตื่นตระหนกอย่างรุนแรง เราเห็นว่าวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญ เห็นด้วยที่ภาครัฐส่งเสริมงบประมาณ แต่การสกัดการแพร่ระบาดควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจยังเป็นโจทย์ท้าทาย

โจทย์วันนี้ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงไม่ล้มป่วยหรือเสียชีวิต ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศต้องไม่สะดุด ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ต้องใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นการออกมาตรการเพิ่มเติมของรัฐบาล จะต้องถึงมือคนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างน้อยเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการเสริมสภาพคล่องในระบบ นำไปสู่การฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวม

วันนี้ยอดรวมทั่วโลกล่าสุดติดเชื้อ 2.8 ล้านราย ยอดเสียชีวิตกว่า 9 แสนราย เห็นได้ว่าโควิด-19 ไม่เลือกฐานะทั้งประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ไม่เว้นประเทศเพื่อบ้านของไทยยังทวีความรุนแรง อย่างเมียนมาจากที่เคยสงบมานาน ล่าสุดวันเดียวติดเชื้อ 191 คน ส่วนอินโดนีเซียผู้ป่วยทะลุ 2 แสนราย 

หัวใจของการสกัดการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปด้วยในเวลาเดียวกันคือความสามัคคี เราเห็นว่าหากทุกฝ่ายของชาติ ได้แก่ ภาครัฐที่มีหน้าที่บริหารจัดการภาพรวม กลุ่มแพทย์ที่ทำงานหนักมาตลอด 7 เดือน หรือภาคธุรกิจและประชาชนที่มีหน้าที่เชื่อมั่นร่วมมือในมาตรการเศรษฐกิจและนโยบายด้านสาธารณสุข โจทย์ภายในประเทศที่ไม่ยากจนเกินไปหากเทียบปัจจัยภายนอก ขอเพียงทุกฝ่ายรู้จักหน้าที่ของตนเอง