'นำเข้า' ดิ่งทำภาคผลิตต่ำ ส่งสัญญาณซ้ำเติมส่งออกปี 63

'นำเข้า' ดิ่งทำภาคผลิตต่ำ ส่งสัญญาณซ้ำเติมส่งออกปี 63

ภาคการส่งออกที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศ เพราะมีสัดส่วนต่อจีดีพีหรือพูดง่ายๆคือเป็นแหล่งรายได้ของประเทศถึง 70% นั้น ในปีนี้ การส่งออกกำลังอยู่ในสถานการณ์โคม่า

ภาคการส่งออกที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศ เพราะมีสัดส่วนต่อจีดีพีหรือพูดง่ายๆคือเป็นแหล่งรายได้ของประเทศถึง 70% นั้น ในปีนี้ การส่งออกกำลังอยู่ในสถานการณ์โคม่า โดยเดือนก.ค.ที่ผ่านมาแม้การส่งออกจะติดลบน้อยลงแต่ในภาพรวมช่วง7 เดือนตั้งแต่ม.ค.-ก.ค. ไทยส่งออกรวมมูลค่า133,162ล้านดอลลาร์ติดลบ7.72% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า119,118 ล้านดอลลาร์ ติดลบ14.69 % ซึ่งเป็นการติดลบคิดเป็นสองเท่าของการส่งออกนั้น สถานการณ์เช่นนี้การนำเข้ากำลังส่งสัญญาณต่อรายได้หลักของประเทศไทยในปีนี้อย่างไรสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)ได้จัดแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกก.ค.พร้อมนำเสนอมุมมองต่อการส่งออกไทยปี2563ดังนี้ 

กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ค.ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18,819 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าก็พบว่าติดลบถึง 26.38% ทำให้ภาคเอกชนมีความกังวลเนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการลงทุนใหม่ สอดคล้องกับการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตสินค้าก็ลดลงเช่นกัน  

"สะท้อนให้เห็นถึงการผลิตและการส่งออกขณะนี้กำลังใช้วัตถุดิบที่มีอยู่เดิม และนำไปสู่การผลิตในสัดส่วนที่ต่ำ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ”

สำหรับคำสั่งซื้อสินค้าในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ประเมินว่าคงไม่เพิ่มมากขึ้น เพราะคาดการณ์การส่งออกทั้งปีติดลบ 10%  ซึ่งจะลดลงทั้งปริมาณสินค้าที่ส่งออกและมูลค่า บางสินค้าปริมาณคงที่แต่มูลค่าลดลง แต่ก็มีสินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นคือ สินค้ากลุ่มอาหารที่จะขยายตัวมากขึ้น 

รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน(Work from Home)จากผลกระทบของโควิด-19 เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 เช่นผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ 

159963303980

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ส่งออกลดลงจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ ออเดอร์สินค้าจะเห็นชัดเจนในช่วงเดือน 10 หรือต.ค.ของทุกปีที่จะมีการสั่งซื้อสินค้าเพื่อใช้ในเทศกาลสำคัญทั้งคริสมาสต์ และปีใหม่ ซึ่งขณะนี้ประเมินยากเนื่องจากความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและกำลังซื้อตลาดปลายทางยังได้รับผลจากทั้งโควิด-19 และเศรษฐกิจภายในแต่ละประเทศที่ยังไม่สามารถประเมินได้เช่นกันว่าจะสิ้นสุดหรือทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร 

เพราะโดยปกติแล้วในช่วงเวลาดังกล่าวจะมียอดการสั่งซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องนุ่งหุ่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ของขวัญ เข้ามาแต่ในปีนี้ต้องติดตามดูเรื่องยอดการค้าปลีกของตลาดที่สำคัญของไทยด้วยที่จะส่งผลต่อคำสั่งซื้อในไตรมาส 4นี้

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสรท. กล่าวว่า  ตัวเลขการนำเข้าที่ติดลบมากไม่สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกทำให้กังวลเกี่ยวกับการผลิตในเดือนต่อไป อย่างไรก็ตาม สรท.ยังคงคาดการณ์ส่งออกไทยทั้งปี ติดลบ 10%บนสมมติฐานค่าเงิน31.5บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกของไทย คือ ปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19ที่หลายประเทศทั่วโลกยังมีความรุนแรงและมีแนวโน้มระบาด รอบ 2  ปัจจัยการนำเข้าที่ลดลงซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผลิตและส่งออกโดยใช้วัตถุดิบและสินค้าที่มีอยู่เดิม 

ปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ปัจจัยระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำกว่าปี 2562 ปัจจัยภัยแล้งซึ่งเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหลักยังมีน้อย 

และปัจจัยปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเส้นทางทรานส์แปซิฟิกและเส้นทางยุโรป เนื่องด้วยการประกาศขึ้นค่าระวาง รวมถึงการจัดระวางขนส่งและตู้สินค้าจากสายเรือไปยังเจ้าของสินค้าจากจีนและเวียดนามในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับจัดสรรระวางและตู้สินค้าไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีการเสนอราคาค่าระวางที่ค่อนข้างสูงแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกระจายสินค้าข้ามชาติ อีกทั้งผู้ประกอบการได้รับส่วนต่างกำไรจากคำสั่งซื้อลดลงเนื่องด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น

ทั้งนี้สรท.อยากให้แก้ปัญหาในเรื่องของต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงโดยเฉพาะค่าโลจิสติกส์ระหว่างประเทศพุ่งขึ้นถึง 30% ส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศเพิ่มขึ้น 25.7% รวมแล้วต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการล่าสุดอยู่ในระดับ 13.6% ซึ่งภาครัฐต้องช่วยผลักดันแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโลจิสติกส์ที่มีอยู่แล้วให้สามารถเดินหน้าตามแผนที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)วางไว้ที่ต้องลดต้นทุนโลจิสติกส์เหลือ 12% ภายในปี 2564