โควิดระบาดหนุน‘ตลาดออนไลน์เมียนมาโต’

โควิดระบาดหนุน‘ตลาดออนไลน์เมียนมาโต’

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลต่อบรรยากาศการซื้อสินค้าของคนทั่วโลก รวมถึงเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่มีการอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอนุภูมิภาคซีแอลเอ็มวี

โชคชัย เอี่ยมฤทธิ์ไกร ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจออนไลน์ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์ หนึ่งในธุรกิจของไทยที่เข้าไปบุกเบิกตลาดเมียนมา ได้เล่าประสบการณ์และสะท้อนแนวโน้มผู้บริโภคตลาดออฟไลน์และออนไลน์ในเมียนมา จากโควิด-19 ว่า รูปแบบการทำธุรกิจและความนิยมสินค้าในเมียนมาเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ตามกระแสความสนใจของคนในประเทศ ส่วนใหญ่หันมาชอปปิงสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นจากเดิม นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้

ปัจจุบัน บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊คชาวเมียนมามีจำนวน 7,538,678 ราย และบัญชีผู้ใช้ยูทูบ 588,200 ราย ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ เริ่มมีอิทธิพลต่อนักช้อปชาวเมียนมาที่ซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ถ้าสังเกตการนำเสนอขายในเฟซบุ๊ค จะเห็นความแตกต่างระหว่างผู้บริโภคชาวเมียนมาและวิธีคิดแบบสากล

การวิเคราะห์พฤติกรรมนักช้อปชาวเมียนมา สำหรับวางแผนทำการตลาดช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเห็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรชาวเมียนมาราว 54.23 ล้านคน พบว่า ข้อมูลเมื่อเดือน ม.ค. ปี2563 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีการใช้สมาร์ทโฟน 68.24 ล้านเครื่อง เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีจำนวน 21 ล้านคน ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการเติบโตของตลาดออนไลน์สูงเป็นอันต้นๆในภูมิภาคอาเซียน

แต่เมียนมายังมีข้อจำกัดในเรื่องเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ในประเทศ อาทิ รัฐยะไข่ ทางตะวันตก และรัฐกะฉิ่น ทางเหนือของเมียนมา ถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งจะเป็นอีกโจทย์สำคัญหากต้องการทำการตลาดออนไลน์

อีกทั้งประชาชนบางส่วนที่อาจไม่รู้หนังสือแต่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จะเห็นว่า การโฆษณาสินค้าจะเน้นไปที่คลิปวิดีโอ หรือไลฟ์สดขายสินค้า โดยไม่เน้นบรรยายข้อความโฆษณา ยกเว้นจะบอกโลโก้ และชื่อแบรนด์

“ถ้าคิดจะทำการตลาดในอาเซียน แต่ขายสินค้าในเมียนมาไม่ได้ ก็คงไม่ต้องไปบุกตลาดในประเทศอื่น เพราะวัฒนธรรมการซื้อและความนิยมสินค้ามีความใกล้เคียงกับตลาดในไทยมากที่สุด" ผอ.ฝ่ายธุรกิจออนไลน์ บ.บีอีซี-เทโร กล่าว

โชคชัย แนะนำว่า สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ต้องการไปทำธุรกิจในเมียนมา หากเลือกโปรโมทสินค้าผ่านโชเชียลมีเดีย จะช่วยเข้าถึงผู้ซื้อชาวเมียนมาได้มากกว่า และลดต้นทุนได้มากกว่าการโฆษณาสินค้าผ่านโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักของประเทศ เพราะต้องใช้ต้นทุนสูง

ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ชาวเมียนมาต้องอยู่บ้าน เป็นผลให้คนใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้นจากเดิมก่อนเดือน ม.ค. ปี63 จำนวน 21 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคนในเดือนก.ค. นี่เป็นข้อดีสำหรับอีคอมเมิร์ซไทยที่สามารถใช้ประโยชน์จากการค้าทางอินเทอร์เน็ตเข้าถึงผู้ซื้อชาวเมียนมาได้

159926843491

ถ้าเปรียบเทียบเว็บไซต์เป็นบ้าน แอพพลิเคชันเป็นหน้าร้าน พบว่า คนเมียนมาส่วนใหญ่ใช้บัญชีเฟซบุ๊ค เชื่อมต่อลิงค์กับการเข้าถึงเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นอีคอมเมิร์ซ เช่นเดียวกับการติดต่อซื้อขายlสินค้าออนไลน์ ก็ผ่านข้อความแมสเซนเจอร์มากกว่า 50% ซึ่งตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเวลาครึ่งปี จำนวนบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊คสูงขึ้น 21% และจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซยอดนิยมในเมียนมาได้แก่ Shop.com , rge47.com และ BarLoLo ซึ่งจะขายสินค้าหลากหลาย และมีความคล้ายคลึงกับอาลีบาบา และลาซาด้า

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการไปทำธุรกิจในเมียนมา จะต้องวางแผนในเรื่องการขนส่งสินค้าให้ถี่ถ้วน เพราะขณะนี้ระบบโลจิสติกส์สินค้าภายในประเทศเมียนมายังต้องได้รับการปรับปรุงอีกมาก เพราะยังไม่ครอบคลุมหลายพื้นที่ และระยะเวลาจัดส่งไม่แน่นอน ตลอดจนต้นทุนการขนส่งพัสดุค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ โชคชัยยังบอกว่า เมียนมามีจำนวนการใช้สมาร์ทโฟนสูง สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการใช้จ่ายเงินผ่านออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนแบ่งการตลาดแบรนด์มือถือในเมียนมา 5 อันดับแรกได้แก่ เสียวหมี่ 31% ครองอันดับหนึ่งในประเทศ รองลงมาเป็น ซัมซุง 16.19% หัวเว่ย 12.13% แอ๊ปเปิ้ล 10.91% และออปโป้ 10.44%

โชคชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมิร์ซของเมียนมา มีมูลค่าประมาณ 188 ล้านบาท นักช้อปออนไลน์ส่วนใหญ่นิยมจ่ายเงินปลายทางหลังจากได้รับสินค้าแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังขาดความเชื่อมั่นในระบบธนาคาร แต่ตอนนี้เมียนมามีบริการอี-แบงก์กิ้ง ทั้งบนแพลตฟอร์มเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน ทำให้จำนวนผู้ที่จ่ายเงินผ่านออนไลน์เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม หรือกว่า 30% ในช่วงโรคโควิด-19ระบาด