ถอดบทเรียน ‘ไต้หวัน-นิวซีแลนด์’ ระบาดใหม่หลังปลอดโควิด100วัน

ถอดบทเรียน ‘ไต้หวัน-นิวซีแลนด์’ ระบาดใหม่หลังปลอดโควิด100วัน

ในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดแบบนี้ ทุกประเทศล้วนอยากเปิดประเทศเพื่อให้มีกระแสเงินไหลเข้ามาและมีกิจกรรมทางธุรกิจคึกคัก แต่ก็ต้องรับความเสี่ยงว่าอาจเกิดการระบาดของโรคโควิด-19รอบใหม่ ที่อาจควบคุมได้ยากกว่ารอบแรก อย่างกรณีไต้หวัน นิวซีแลนด์ และอารูบา ที

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยเมื่อวันที่2ก.ย.มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 8 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากสหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ล่าสุด ยอดติดเชื้อสะสมในไทยอยู่ที่ 3,425 ราย ขณะที่วันที่2นี้ ครบ 100 วัน ที่ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ เช่นเดียวกับไต้หวัน นิวซีแลนด์และอีกหลายประเทศ แต่หลายประเทศในกลุ่มนี้ ก็เผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่น่าจะควบคุมได้ยากกว่าการระบาดรอบแรก

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขบ่งชี้ว่า ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่นับตั้งแต่วันที่ 26พ.ค.และเจ้าหน้าที่ยังคงตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อหาผู้ติดเชื้อในบรรดานักเดินทางที่เดินทางมาถึงพื้นที่ชายแดนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง แต่บรรดานักเดินทางและนักท่องเที่ยวเหล่านั้นก็ถูกกักตัวและจะได้รับอนุญาติให้เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆในสังคมได้ก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจสอบแล้วว่าไม่ติดเชื้อ มีความปลอดภัยเพียงพอ

ไทยก็เหมือนกับไต้หวันและนิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศที่ผ่าน100วันมาได้โดยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่ม ก่อนที่จะเจอปัญหาแพร่ระบาดรอบใหม่ในเวลาต่อมา ซึ่งการที่ไทยประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เพราะนโยบายคุมเข้มบริเวณชายแดน โดยไทยปิดพื้นที่ชายแดนห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศมานานหลายเดือน ซึ่งกลยุทธนี้ก่อต้นทุนและสร้างความเสียหายด้านการท่องเที่ยวแก่ไทยอย่างมหาศาล เนื่องจากชายหาดชื่อดังของไทย ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ถือเป็นจุดขาย สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นกอบเป็นกำกลายสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวร้างผู้คน

ถือเป็นสถานการณ์กลืนไม่เข้า คายไม่ออกสำหรับไทย และรัฐบาลกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากภาคธุรกิจให้เปิดประเทศเพื่อกอบกู้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ20%ของขนาดเศรษฐกิจประเทศในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยล่าสุด รัฐบาลระบุว่าจะเปิดแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้อีกครั้งก่อนที่จะถึงฤดูหนาวแต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเมื่อเปิดแหล่งท่องเที่ยวแล้วจะมีมาตรการอะไรเพื่อทำให้ผู้คนท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย ห่างไกลจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่

“เราคุมไวรัสได้ และตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งเราปิดชายแดนนานเท่าใด ยิ่งเสียหายมากขึ้น และหากไม่มีการดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสม การปิดตัวลงของธุรกิจบางประเภท และการตกงานของบรรดาแรงงานอาจจะฉุดการเติบโตระยะยาวของประเทศลงประมาณปีละ 0.5% ซึ่งถือว่ามีนัยยะสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศที่จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไทย”สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) กล่าว

สถานการณ์ที่ไทยกำลังเผชิญสะท้อนถึงความยากในการสร้างสมดุลของบรรดารัฐบาลทั่วโลกที่พยายามรับมือกับวิกฤติด้านสุขภาพของประชาชนกับความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่หลายประเทศเลือกปิดประเทศเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสตั้งแต่เนิ่นๆ แต่การทรุดตัวลงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเร็วมากจนรับมือไม่ทัน และประเทศต่างๆตั้งแต่สหรัฐไปจนถึงอินเดียพยายามเร่งเปิดประเทศแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในประเทศยังไม่ดีขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อไวรัสระลอกใหม่

ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างอารูบา ในแคริเบียน เจอปัญหาการแพร่ระบาดรอบใหม่หลังจากอนุญาติให้นักท่องเที่ยวเท่าประเทศ ส่วนประเทศต่างๆในยุโรปกำลังเจอคลื่นมนุษย์ที่หลั่งไหลเข้าไปท่องเที่ยวยังที่ต่างๆในช่วงวันหยุดฤดูร้อนเมื่อไม่นานมานี้

ทางการไทยยังคงไม่ไว้ใจเกรงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดรอบสองเหมือนอย่างนิวซีแลนด์และเวียดนาม โดยนิวซีแลนด์ ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นเวลา 102วัน ต้องหวนกลับมาล็อกดาวน์อ็อคแลนด์เมื่อเดือนที่แล้วเพื่อสกัดการแพร่ระบาดรอบใหม่ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งนี้ ส่วนเวียดนาม มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเป็นพบผู้เสียชีวิต 30 คนภายใน1เดือนหลังจากเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของเมืองดานัง

การที่ไทยไร้ผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มมาได้นานถึง100 วัน ถือเป็นเรื่องน่าประทับใจและไทยเป็นประเทศแรกนอกจีนที่ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ก่อนจะประกาศปิดประเทศเมื่อเดือนมี.ค.แต่ต่อมาได้ใช้มาตรการผ่อนคลายบางส่วนเพื่อให้ธุรกิจบางประเทศเปิดดำเนินการได้ แต่รัฐบาลยังคงให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และใช้ระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งตามมาตรฐานประเทศกำลังพัฒนา ทั้งยังกระตุ้นให้ประชาชนที่มีอาการรีบไปรับการตรวจร่างกายและรับการรักษาโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเศรษฐกิจ แม้ประชาชนชาวไทยจะถูกกระตุ้นให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศแต่การท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศของคนไทยก็ไม่สามารถชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้ โดยเมื่อปี 2562 ไทยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคนแต่ในปีนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยไม่ถึง 7 ล้านคน

ขณะที่เสาหลักเศรษฐกิจอื่นของไทย นอกจากการท่องเที่ยว คือภาคการผลิต ก็บอบช้ำไม่แพ้กันเพราะความต้องการจากทั่วโลกลดลงผลพวงจากการระบาดของโรคโควิด-19 และไทยต้องเจอกับแนวโน้มเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย กระทรวงการคลังของไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวประมาณ 8.5% ถือเป็นการหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ มี 3 ปัจจัยที่จะทำให้ไทยเสี่ยงเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 2 คือ 1.มีผู้ป่วยเหลืออยู่ในไทย เช่น ประเทศจีนก็คิดว่าเกิดจากผู้ป่วยที่หลงเหลือในประเทศ 2.มีความเป็นไปได้ว่าคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศแม้จะมีระบบเฝ้าระวังในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ แต่ก็อาจจะมีโอกาสหลุดไม่มากนัก 3. ผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่น่ากลัว เนื่องจากไม่สามารถจัดการได้แบบ 100% โดยเฉพาะการเข้ามาทางด่านธรรมชาติต่างๆ