'ญี่ปุ่น‘ ชี้ ’โควิด' ทำลายร่างกาย-จิตใจระยะยาว

 'ญี่ปุ่น‘ ชี้ ’โควิด' ทำลายร่างกาย-จิตใจระยะยาว

“รัฐบาลญี่ปุ่น” เผยผลวิจัย เชื้อโควิด-19 ทำลายร่างกายและจิตใจระยะยาว แม้หายป่วยแล้ว

รัฐบาลญี่ปุ่นจะวิจัยผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของอดีตผู้ป่วยไวรัสโควิด หลังพบว่าถึงแม้หายป่วยแล้วก็ยังมีอาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ซึมเศร้า ขาดสมาธิ ความจำถดถอยลง วิตกจริต เครียด

วัยรุ่นชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิดและหายดีแล้วนานกว่า 3 เดือน ระบุว่า ยังคงรู้สึกเซื่องซึม มีไข้เป็นพักๆ ปวดหัว เจ็บหน้าอก และมีผื่นขึ้นตามตัว โดยเขาเคยคิดว่าอาการต่างๆ จะหายไปหลังจากเขาหายป่วยได้ 2 สัปดาห์ แต่ตอนนี้ เริ่มกังวลว่าอาการเหล่านี้อาจจะคงอยู่ตลอดไป

หลังจากพบว่า ตัวเองติดเชื้อโควิดเมื่อเดือน พ.ค. และต้องรอนานถึง 20 วันกว่าจะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพราะว่าเตียงไม่ว่าง หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ มีผลตรวจการติดเชื้อเป็นลบ ออกจากโรงพยาบาลได้ และยังต้องพักฟื้นอยู่ที่บ้านต่อ

แต่หลังจากนั้นไม่นาน วัยรุ่นรายนี้ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งเพราะอาการไม่ดีขึ้น และตอนนี้ยังต้องไปพบแพทย์อยู่สม่ำเสมอเมื่อรู้สึกว่าสุขภาพมีปัญหา ไม่มั่นใจว่าจะแข็งแรงพอที่จะกลับไปโรงเรียนได้ในเดือนหน้านี้

ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีอัตราของผู้ป่วยที่หายจากโควิดจำนวนมาก แต่ผู้ป่วยหลายรายบอกว่ามีอาการตกค้างแม้จะหายป่วยแล้ว เช่น มีไข้เป็นช่วงๆ วิงเวียน เหนื่อยง่าย การรับรู้และกลิ่นด้อยลง โดยมีการบอกเล่าอาการผ่านโลกออนไลน์โดยใช้แฮชแท็ค corona aftereffects

คณะแพทย์ในอิตาลีได้เผยแพร่ผลการศึกษาในผู้ป่วย 143 คนที่หายจากโรคโควิด-19 แล้ว ในวารสาร Journal of the American Medical Association พบว่า 90% มีอาการผิดปกติหลงเหลืออยู่ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ปวดข้อ เจ็บหน้าอก ไอ เป็นต้น ผู้ที่รอดชีวิตจากไวรัสโควิด มีความเสี่ยงที่จะมีอาการผิดปกติที่ปอดอย่างน้อยอีก 6 เดือน

ผู้ป่วยอาการหนัก ปอดจะเสียหายอย่างรุนแรง

คณะแพทย์ในโรงพยาบาลเมืองอู่ฮั่นพบว่า ผลซีทีสแกนปอดของผู้ป่วยโควิดมีจุดฝ้าขาวที่ปอด หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว

ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งของคณะแพทย์ในโรงพยาบาลเมืองกว่างโจว พบว่า 47% ของผู้ป่วยมีความผิดปกติในการทำงานของปอด และราว 25% ของผู้ป่วยหายใจนำอากาศเข้าปอดได้ปริมาณน้อยลง ถึงแม้ว่าจะมีระดับออกซิเจนในเลือดปกติตอนที่ออกจากโรงพยาบาลก็ตาม ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนัก ปอดจะถูกทำลายอย่างร้ายแรง

ศาตราจารย์ยาซูฮิโระ เซโตงูจิ จากมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และทันตแพทย์โตเกียว ระบุว่า ผู้ป่วยที่หายแล้วบางคนบอกว่า แค่ขึ้นบันไดก็หายใจเหนื่อยหอบแล้ว และต้องพยายามอย่างมากเพื่อจะใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม

ความผิดปกตินี้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ปอดมีปฏิกิริยาต่อต้านการขยายตัวของเซลล์ไวรัสอย่างรุนแรง ส่งผลให้เนื้อเยื่อปอดเสียหายและซ่อมแซมตัวเองซ้ำไปซ้ำมาจนแข็งตัว เนื้อเยื่อที่แข็งตัวนี้ทำให้ปอดขยายตัวได้ยากเหมือนกับมีแผ่นยางแข็งๆ เกาะอยู่

ไม่ใช่แค่ปอด แต่ทำลายหัวใจ ส่งผลต่อความจำและสมาธิ

มาซามิตสึ ซานูอิ หัวหน้าแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาวิทยาลับจิชิ จ.ไซตามะ ผู้ป่วยโควิดที่เคยรักษาในไอซียู จากอาการปอดอักเสบ นอกจากการทำงานของปอดจะแย่ลงแล้ว ยังจะมีความทรงจำและสมาธิที่ถดถอยลง มีภาวะเครียดหลังการป่วย (PTSD) ผลการศึกษาพบว่า อาการทางจิตใจนี้จะคงอยู่ราว1-2 ปีหลังจากร่างกายฟื้นตัว

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลายรายเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีประวัติอาการของโรคหัวใจมาก่อน

กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นจะเริ่มศึกษาผลกระทบในระยะยาวของโรคโควิด-19 ในผู้ป่วย 2,000 คนตั้งแต่เดือน ส.ค. โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยอาการปานกลางถึงหนัก1,000 คน และผู้ป่วยอาการเบา 1,000 คน ทางกระทรวงได้ตั้งคณะนักวิจัยที่จะติดตามผู้ป่วยที่หายแล้วไปจนถึงเดือนมีนาคม ปีหน้า เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนามาตรการป้องกันผลระยะยาวและพัฒนาการรักษาต่อไป