"ขับรถหน้าฝน" อย่างไรให้ปลอดภัย

"ขับรถหน้าฝน" อย่างไรให้ปลอดภัย

แต่ละฤดูกาล ส่งผลถึงสภาพแวดล้อมรอบๆตัว และหน้าฝนคือช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ขับขี่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม

ในช่วงฤดูฝนปี 63 กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ  อย่างเป็นทางการว่าช่วงสิงหาคม-กันยายนคือเดือนที่มีฝนตกชุกที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าช่วงเวลาดังกล่าวนี้ผู้ขับขี่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอย่างที่รู้ว่าฝนตกส่งผลถึงสภาพถนนซึ่งทำให้ การ ‘ขับรถหน้าฝน’ ควบคุมรถทำได้ยากกว่าสภาวะปกติ

ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ผู้ใช้บรรดาไบค์เกอร์หรือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เท่านั้นซึ่งต้องเตรียมตัวรับมือกับฝน  และความเปียกปอนระหว่างการเดินทาง แต่สำหรับผู้ที่ขับรถยนต์ก็ต้องเตรียมตัวไว้เช่นกัน เพราะถึงจะไม่ได้เปียกดั่งเช่นผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ แต่การขับรถยนต์ช่วงฝนตกมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย เพราะไหนจะเม็ดฝนบนกระจก, ถนนลื่น, สภาพการจราจรติดขัด, การใช้ถนนร่วมกับผู้ขับขี่รายอื่น และอีก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดส่งผลถึงการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายๆ

เช็คสภาพรถ

นี่คือเรื่องแรกที่ต้องเตรียมตัว ซึ่งแม้จะฟังดูเบสิคที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ

การทำให้รถยนต์สมบูรณ์ ในช่วงที่ต้องมีการขับขี่ในหน้าฝนนี้ เน้นเจาะจง ไปที่การเช็คระบบไฟ , ที่ปัดน้ำฝน , ยางรถ โดยเฉพาะเรื่องเบรครถยนต์ซึ่งต้องมั่นใจได้ตั้งแต่ หม้อลมเบรค, สายเบรค, จานเบรค, ผ้าเบรค, น้ำมันเบรครถยนต์ ทั้งหมดอยู่ในสภาพสมบูรณ์

มากกว่านั้น เรื่องง่ายๆอย่างการมีเชื้อเพลิงที่เพียงพอก็ไม่อาจมองข้าม เพราะยามที่ฝนตก รถติด การมีน้ำมันหรือเชื้อเพลิงไว้ในปริมาณที่มากพอทำให้เราอุ่นใจได้มาก ซึ่งย่อมดีกว่าการใช้การคาดคะเน ซึ่งอาจผิดพลาดได้

รู้ทันนิสัยการขับขี่

ถ้าคุณหัวร้อน จุดเดือดต่ำ ฤดูฝนคงไม่เหมาะกับการขับขี่ของคุณเสียแล้ว

ข้อนี้คือการเน้นย้ำว่า ขับรถหน้าฝนต้องใช้ความใจเย็นมากเป็นพิเศษ อย่าขับรถแบบกระชั้นชิด  เลือกใช้ความเร็วรถให้เหมาะกับสภาพถนนและการมองเห็นเสมอ  นอกจากนี้ควรขับโดยทิ้งระยะห่างขณะขับตามรถคันหน้าให้มากกว่าปกติเป็น 2 เท่าเพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ ใช้ทั้งสองมือกุมพวงมาลัยเพื่อให้สามารถบังคับเลี้ยวได้อย่างมั่นคงและทันท่วงที 

ที่ต้องบอกตัวเองคืออย่าดื้อโดยเด็ดขาด เพราะบางครั้งหากเกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก ท้องฟ้ามืดมัว ทัศนวิสัยในการขับไม่ดีก็ไม่ต้องฝืนขับ หาที่จอดรถในที่ปลอดภัยย่อมดีที่สุด ท่องในใจเสมอว่าการขับรถตอนฝนตกห้ามประมาท ต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นมากกว่าในสภาพอากาศปกติ  หากไม่ไหวก็พักก่อนได้

 

คิดจะลุยน้ำ ต้องปิดแอร์ ใช้เกียร์ต่ำ

พูดกันมาตลอด แต่ยังเห็นรถจอดตายกลางสายน้ำ นั่นเป็นเพราะการหลงลืมในข้อนี้

ขับรถหน้าฝน ต้องเพิ่มความสังเกตให้มากขึ้น เมื่อพบจุดที่มีน้ำขังบนถนน ต้องค่อยๆลดความเร็ว และหากต้องขับผ่านบริเวณที่น้ำขังเป็นเวลานานควรสังเกตระดับความลึกของน้ำจากรถคันหน้าหรือขอบฟุตบาทข้างทางเพื่อประเมินสถานการณ์ เพราะถ้าน้ำท่วมสูงเกินไป แล้วฝืนลุยนานๆ รถอาจดับได้

คำแนะนำในข้อนี้คือถ้าจำเป็น (จริงๆ) ต้องขับลุยน้ำท่วมขัง เราควรปิดระบบแอร์และใช้เกียร์ต่ำ เพื่อไม่ให้รอบเครื่องยนต์ต่ำเกินไปจนน้ำอาจจะย้อนเข้าท่อไอเสียได้ และเมื่อพ้นจุดที่น้ำท่วมขังมาแล้ว อย่าลืมย้ำเบรคบ่อยๆ เพื่อรีดน้ำให้ผ้าเบรคแห้ง ป้องกันอาการเบรคลื่น

งดใช้โทรศัพท์-เปิดไฟหน้ารถ

ใช้หูฟังคือสิ่งที่ทุกคนต้องทำอยู่แล้ว แต่ถ้าเลี่ยงได้หากฝนตกหนักควรหยุดใช้โทรศัพท์ชั่วคราว เพราะนอกจากโฟกัสในการขับขี่จะน้อยลงจากการโทรศัพท์แล้ว สัญญาณวิทยุและสัญญาณโทรศัพท์ของเราจะเป็นตัวนำการเคลื่อนที่ของกระแสไฟในอากาศ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็ควรจะหยุดใช้สักพักการโทรศัพท์

อีกทั้งเมื่อฟ้ามืดครึ้มอย่าลืมเปิดไฟใหญ่ด้านหน้าในตำแหน่งไฟต่ำ นอกเหนือจากที่จะทำให้ผู้ใช้ถนนคนอื่นได้เห็นรถคุณแล้ว ยังทำให้คุณเห็นผิวพื้นถนนได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย

ทำประกันรถยนต์

ประกันรถยนต์ คือการซื้อความเสี่ยง และถ้าถามว่าช่วงฤดูกาลใดเสี่ยงต่อการขับขี่มากที่สุดก็หนีไม่พ้นช่วงฤดูฝนนี่แหละ ประกันรถยนต์ที่จะดูแลรถยนต์ยามฝนตกหนัก “น้ำท่วมรถ” คือ ประกันชั้น 1 ซึ่งเป็นประกันภัยชั้นที่มีความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากที่สุด มีเบี้ยประกันสูงที่สุด หรือบางบริษัทประกันชั้น 2 + ซึ่งมีเงื่อนไขที่ระบุถึงเหตุน้ำท่วมก็ช่วยชดใช้ค่าเสียหายได้

สำหรับความคุ้มครองประกันรถยนต์จากความเสียหายของน้ำท่วมมีสองแบบ คือการสูญเสียโดยสิ้นเชิง โดยการสูญเสียโดยสิ้นเชิงคือกรณีที่น้ำท่วมมิดคัน หรือ ท่วมเกินช่วงคอนโซลหน้า ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งห้องโดยสาร บริษัทประกันประเมินว่า ไม่คุ้มที่จะซ่อมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ประกันรถยนต์จะยินดีที่จะจ่ายเงินในอัตรา 70-80% ของทุนประกันรถหรือมูลค่ารถ (ขึ้นอยู่กับรายละเอียดกรมธรรมภ์) เพื่อเป็นการขอซื้อซากรถ

เสียหายบางส่วน คือสามารถซ่อมกลับมาใช้ได้ ประกันภัยก็จะตีเป็นลักษณะความเสียหายบางส่วน บริษัทประกันจะรับผิดชอบซ่อมแซมรถให้กลับมาใช้งานได้ปกติ โดยที่ประกันรถยนต์นั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด 100%

สนใจทำประกันรถยนต์ คลิก