ธปท.ชี้ 2แบงก์ ใช้ดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ธุรกรรมแรก ในตลาดการเงินไทย

ธปท.ชี้ 2แบงก์ ใช้ดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ธุรกรรมแรก ในตลาดการเงินไทย

ธปท. ชี้ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารกสิกรไทย ได้ทำสัญญาอนุพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิง THOR ครั้งแรกในตลาดเงิน หลัง มีการยุติ LIBOT ยันดอกเบี้ยอ้างอิง THOR โปร่งใส่ หน้าเชื่อถือสูง

   นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ตามที่ LIBOR จะยุติบทบาทการเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดการเงินโลก ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องหันมาพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในประเทศ ประเทศไทยได้พัฒนาอัตราดอกเบี้ย THOR หรือ Thai Overnight Repurchase Rate ซึ่งคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของธุรกรรมระหว่างธนาคารในตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนช่วงระยะเวลาข้ามคืนที่เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้ THOR เป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ

     อีกทั้งมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดูแลการคำนวณและการเผยแพร่ให้ได้ตามมาตรฐานเดียวกับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ทั้งนี้ การพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนภาวะตลาดการเงินของประเทศ และเป็นฐานให้กับตลาดในการจะนำไปใช้อ้างอิงในธุรกรรมอื่น ๆ ของภาคธุรกิจที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น สินเชื่อ หุ้นกู้ 

      ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคารกสิกรไทย ได้ทำสัญญาอนุพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิง THOR เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Overnight Indexed Swap: OIS)

    นับเป็นธุรกรรมแรกของประเทศไทยนับตั้งแต่มีการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 และการทำธุรกรรมอนุพันธ์ระหว่าง 2 ธนาคารดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสภาพคล่องให้กับผู้ร่วมตลาดในการนำอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะสามารถปิดความเสี่ยงโดยเปลี่ยนให้เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ได้

       อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบายของ ธปท. ในการยกระดับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย LIBOR ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของตลาดการเงินไทย

     ทั้งนี้ การที่ตลาดการเงินไทยเริ่มมีธุรกรรมที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังจากที่เริ่มมีการเผยแพร่ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการพัฒนาตลาดการเงินของไทยในอนาคต

     อีกทั้งขอชื่นชมและขอบคุณธนาคารและผู้ร่วมตลาดที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิง THOR และการทำธุรกรรมใหม่ ๆ ได้ภายในเวลาอันสั้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของผู้ร่วมตลาดของไทย