คนโคราชเฮ ! รฟม.ลุยร่วมทุน 7 พันล้าน เปิดพีพีพีแทรมกลางปี 64

คนโคราชเฮ ! รฟม.ลุยร่วมทุน 7 พันล้าน เปิดพีพีพีแทรมกลางปี 64

รฟม. จัดมาร์เกตซาวดิ้งแทรมโคราชรอบสุดท้าย เดินหน้าสร้างสายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ วงเงินกว่า 7 พันล้าน คาดเปิดพีพีพีกลางปีหน้า

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานจัดการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจ (Market Sounding) ครั้งที่ 2 ของภาคเอกชน (กลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการ) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) วันนี้ (31 ส.ค. 2563) โดยระบุว่า การประชุมเพื่อทดสอบความสนใจในครั้งนี้ เป็นการจัดต่อเนื่องจากครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2563 ที่ รฟม. ได้จัดให้แก่ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมา โดยหลังจากนี้ รฟม. จะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มไปประกอบการจัดทำแนวทางการร่วมลงทุนของโครงการต่อไป

159885990224

โดยโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในโครงการที่ รฟม. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้ดำเนินการในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยจะเริ่มก่อสร้างในเส้นทาง สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นลำดับแรก โครงการนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) ระยะทางประมาณ 11.15 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร 21 สถานี

ได้แก่ สถานีมิตรภาพ 1 สถานีสามแยกปักธงชัย สถานีมิตรภาพ 2 สถานีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สถานีสวนภูมิรักษ์ สถานีหัวรถไฟ สถานีเทศบาลนคร สถานีศาลเจ้าวัดแจ้ง สถานีโพธิ์กลาง สถานีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สถานีแยกประปา สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา สถานีราชภัฏฯ สถานีราชมงคล สถานีบ้านเมตตา สถานีบ้านนารีสวัสดิ์ สถานีชุมพล สถานีศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา สถานีไปรษณีย์จอมสุรางค์ สถานีวัดแจ้งใน และสถานีดับเพลิง

159885991913

อย่างไรก็ดี รฟม.คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาโครงการเพื่อให้คณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเร่งเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติเปิดประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในช่วงกลางปีหน้า ก่อนเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2565 และเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ของประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งยังสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน และช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศอันเกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย

สำหรับโครงการการแทรมโคราช สายสีเขียว มีวงเงินลงทุนประมาณ 7.11 พันล้านบาท เป็นรูปแบบ PPP Net Cost สัมปทาน 30 ปี เบื้องต้นรัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา, งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลค่าขบวนรถไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โดยเอกชนได้รับรายได้จากค่าโดยสารและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ หากมีกำไรเกินกว่ากำหนดต้องส่งคืนให้รัฐตามข้อตกลงร่วมกัน

ทั้งนี้ การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการจะใช้งบประมาณ 1.2 พันล้านบาท มีการเวนคืนที่ดินประมาณ 17 แปลง ใช้พื้นที่จัดทำเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) ประมาณ 25 ไร่ และจุดจอดแล้วจร สำหรับอัตราค่าโดยสาร กำหนดไว้ที่ประมาณ 11-21 บาทต่อคนต่อเที่ยว แต่เบื้องต้น รฟม.มีเป้าหมายปรับราคาค่าโดยสารลดให้เหลือสูงสุดไม่เกิน 20 บาทต่อคนต่อเที่ยว เพื่อให้เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับระบบขนส่งในพื้นที่ และดึงดูดให้ประชาชนมาใช้บริการ คาดว่าในปีเปิดให้บริการในปี 2568 จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 9.9 พันคนต่อวัน และเกือบ 3 หมื่นคนต่อวันในปี 2597