'จตุพร' ติงกลุ่มเคลื่อนไหวไม่นำสถานบันเป็นเครื่องมือการเมือง

'จตุพร' ติงกลุ่มเคลื่อนไหวไม่นำสถานบันเป็นเครื่องมือการเมือง

"จตุพร" ประเมินการเมืองเดือนก.ย. เชื่อส.ว.ยังอยู่เหมือนเดิม ติงกลุ่มเคลื่อนไหวไม่นำสถานบันเป็นเครื่องมือการเมือง

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.63  นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช. )กล่าวถึงสถานการณ์การเมือง ผ่านรายการลมหายใจ PEACE TV ว่า  หัวข้อที่จะสนทนาต่อไปนี้คือ จบและไม่จบในรุ่นเรา คำว่าให้จบในรุ่นเรานั้น เป็นแฮชแท็กของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ถือเป็นธงนำในการต่อสู้ จนกระทั่งเมื่อวานนี้ภายหลังผู้บัญชาการทหารบกไปตรวจหน่วยงาน และปิดท้ายด้วยแฮชแท็กที่ว่าจะไม่ยอมให้จบในรุ่นเรา ดังนั้นจบหรือไม่จบในรุ่นเรานั้นคือการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ซึ่งตนได้ติดตามการถ่ายทอดของกลุ่มไทยภักดีที่ชุมนุมกันที่สนามไทยญี่ปุ่นดินแดงก็มีคนร่วมชุมนุมในระดับหนึ่งซึ่งเทียบไม่ได้กับการชุมนุมขนาดใหญ่ในช่วงกว่า 10 ปีนี้ และจากที่ได้ติดตามการปราศรัย การขับเคลื่อน ก็วิเคราะห์ได้ไม่ยาก และสามารถพูดได้เลยว่าเป็นกลุ่มขวาจัดอย่างรุนแรงที่สุด เพราะเนื้อหาต่างๆหากนึกถึงบรรยากาศปี 2519 คล้ายๆกับกลุ่มนวพลรวมกับกลุ่มแม่บ้านกองทัพบก กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านมาผูกรวมกัน 
 
ตนเคยอภิปรายในที่ประชุมสภาหลายครั้งว่าทุกฝ่ายต้องไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือของตนเอง และไว้ทำลายฝ่ายตรงกันข้าม เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานักการเมืองหรือใครก็ตามไม่มีความดีเป็นของตัวเองและสุดท้ายสู้กันไม่ได้ระหว่างตัวเองกับคู่ต่อสู้ ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือไปชี้หน้าฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกล้มสถาบัน และตัวเองก็กลายเป็นผู้จงรักภักดี บรรยากาศบ้านเมืองก่อนหน้านี้มักจะเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด ซึ่งตนก็เคยถูกกล่าวหาในฐานะกระบวนการคนเสื้อแดง ว่าเป็นพวกล้มสถาบัน เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง

ดังนั้น วันนี้หากดูตามหัวข้อและทิศทาง ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเหตุการณ์ ก่อน 6 ตุลาคม 2519 และท้ายที่สุดใครจะจบ หากจบแล้วจะจบอย่างไร คนชนะคือคนที่เขียนประวัติศาสตร์ คนแพ้ก็จะถูกประณาม แต่จะไม่มีใครแพ้หรือชนะแต่เพียงอย่างเดียวไม่มีใครชนะเบ็ดเสร็จแบบร้อยเปอร์เซ็นต์สถานการณ์ต้องวัดกันเป็นวัน เป็นเดือน เนื่องจากเดือนกันยายนถือว่าเป็นเดือนสุดท้ายของผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน โดยสิ้นเดือนกันยายนนี้หากยังไม่มีอะไรก็ถือว่าปิดฉากกันไปในฐานะการรับราชการ แต่ตรรกะการยึดอำนาจในประเทศไทยนั้นต้องลุ้นกันจนวันสุดท้าย การยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 นั้นพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เหลือระยะเวลาอีก 11 วันเท่านั้นจะเกษียณอายุราชการ ลงมือยึดอำนาจ

วันนี้เราอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปัญหาทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามา ทั้งเรื่องเรือดำน้ำที่ประชาชนคนไทยต่างก็รู้สึกว่ามาไม่ถูกที่ถูกเวลา ผิดกาละเทศะ เนื่องจากประเทศขณะนี้ มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจปากท้องและความอดอยาก 

ดังนั้นการหาทางออกคือการเจรจากับทางการของประเทศจีน ซึ่งประเทศจีนเป็นมหาอำนาจและประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในภาคพื้นภูมิภาคนี้ ซึ่งทั้งจีนและอเมริกาก็พยายามจะเข้ามาสร้างความสัมพันธ์ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าทางการจีนต้องรู้ว่าไทยต้องสู้กับ covid-19 รายได้จากการท่องเที่ยววันนี้แทบจะเป็นศูนย์ 

ดังนั้นหากทางการไทยไปเจรจากับทางการจีนนั้นเรื่องเรือดำน้ำก็จะเป็นที่ยุติ ไม่เช่นนั้นจะเป็นชนวนที่สำคัญ เรือดำน้ำยังไม่จบก็มาเรื่องเหมืองทองอัคราไมนิ่งซึ่งต้องจ้างทนายความหรือฝ่ายกฎหมายที่ต้องไปต่อสู้ในเวทีนานาชาตินั้นใช้งบประมาณเข้าไปแล้ว 388 ตั้งงบใหม่อีก 111 ล้านบาท เหล่านี้กลายเป็นปัญหาความรู้สึกอย่างรุนแรง และท้ายที่สุดหากแพ้คดีมูลค่าจะกี่หมื่นล้านก็ตามใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเพราะประเทศไทยเพิ่งผ่านค่าโง่โฮปเวลล์ และมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนอย่างแน่นอนโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้ว่าจะอธิบายกันมุมใดก็ตาม แต่ในระหว่างทางนั้นมีค่าใช้จ่ายในการต่อสู้จำนวนมากก็จะกลายเป็นแรงกระเพื่อมซึ่งขณะนี้รัฐบาลเองก็อยู่ท่ามกลางแรงกระเพื่อมอยู่แล้ว ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการตั้งฐานยิงขีปนาวุธ นิวเคลียร์ทางภาคเหนือในประเทศไทย แต่ก็ไม่มีใครสามารถตอบว่าประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ไหนเพราะสุดท้ายแล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องเจอสถานการณ์แบบใด

นายจตุพรกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เมื่อวานนี้ตนได้ฟังเวทีที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม ซึ่งได้ระบุว่าไม่ใช่ให้แก้ไข แต่ต้องการให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นปัญหาระหว่างทางที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน เรื่องการแก้ไขมาตรา 256 และยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และ 2 กับการแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ส.ว.นั้น ตนอยากบอกว่าต้องคิดได้มากในแต่ละเรื่องราวเพราะมีบทเรียนมาในอดีตทั้งเรื่อง ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย การตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงที่นปช.ส่วนกลางไม่เห็นด้วย และตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเราก็อยู่ในสนามรบมาโดยตลอด

ดังนั้น การต่อสู้วันนี้หากยึด 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืนและ 1 ความฝันก็จะไม่มีปัญหา และต้องไม่เอาสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ดังนั้นการต่อสู้ครั้งนี้ต้องเป็นเรื่องของประชาชนกับประชาชน โดยเฉพาะ เรื่องของรัฐธรรมนูญที่ตนบอกว่าเราต้องเอาผลในทางปฏิบัติ ทุกคนใช้เสรีภาพในทางความเชื่อ ใครเชื่ออย่างไรก็ไปอย่างนั้น  

นายจตุพร กล่าวด้วยว่า การประกาศว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้ ที่เยาวชนปลดแอกบอกว่าส.ว.ต้องไม่อยู่ในสภาตนมองดูแล้วก็บอกได้เลยว่าคิดยกระดับกันได้เลยเพราะส.ว.จะอยู่ไม่ไปไหน ส่วนวันที่ 19 กันยายนนี้กลุ่มธรรมศาสตร์ก็จะนัดชุมนุมที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ และวันนี้ตนไม่อยากอ่านกลุ่มที่นัดชุมนุมที่ไทยญี่ปุ่นหากนัดชุมนุมวันที่ 19 กันยายนนี้ด้วยโดยมองว่า เขาไม่ได้ต้องการชัยชนะแต่ต้องการเปิดประตูให้มีการรัฐประหาร เหมือนกับหลายครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย