ถอดรหัส 'แรงงาน' ที่ต้องการเร่งด่วน

ถอดรหัส 'แรงงาน' ที่ต้องการเร่งด่วน

ถอดรหัส EEC บิ๊กโปรเจคของไทย ที่ไม่ได้มีแต่การพัฒนาอินฟราสตัคเจอร์และเมืองเท่านั้น ยังมีการพัฒนาคนด้วย แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาการผลิตบุคลากร จึงทำให้ปัจจุบันยังขาดบุคลากรที่เป็นที่ต้องการใน7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมาก

โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ยังจะเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะ EEC เป็นโครงการลงทุนที่สำคัญของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่จะสร้างงาน สร้างรายได้และความทันสมัยต่อไป ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลจึงมุ่งมั่นและทุ่มเทสรรพกำลังให้กับ EEC

หลังวิกฤติ COVID-19 เชื่อได้เลยว่า การแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จะยิ่งมีความหนักหน่วงและท้าทายมากขึ้น ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นในประเทศไทย จึงมีความสำคัญยิ่งต่อนักลงทุน

ในความเป็นจริงแล้ว EEC ไม่ได้มีเพียงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เท่านั้น เช่น รถไฟความเร็วสูง เมืองการบิน เมืองอัจฉริยะ เป็นต้น แต่ EEC ยังมีแผนที่จะพัฒนาคนเพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นด้วย

แต่ปัญหาสำคัญตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็คือ การพัฒนาบุคลากรไม่ตรงตามความต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรมใน EEC และผลิตไม่ทันด้วย โดยดูจากสถิติปัจจุบันที่ประเทศไทยมีคนจบปริญญาตรีที่ว่างงานหรือทำงานต่ำกว่าระดับที่จบมามากกว่า 2 แสนคน ในขณะที่มีความต้องการช่างฝีมือชั้นดีกว่า 5 หมื่นคน แต่กลับไม่มีคนไปสมัครทำงานเลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการผลิตคนที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และหากดูจากความต้องการของผู้ประกอบการแล้ว จะพบว่ายังขาดคนทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ๆ และที่ใช้เทคโนโลยีสูง อย่างการบิน หุ่นยนต์ AI ระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

ปัญหาของการผลิตบุคลากรไม่เป็นที่ต้องการของตลาด และขณะเดียวกันก็ไม่สามารถผลิตบุคลากรในแบบที่ตลาดต้องการได้ กลายเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกที่มีความเกี่ยวเนื่องกันหลายกระทรวงและหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

ดังนั้น แม้การพัฒนาใน EEC จะมีการผลักดันและดำเนินโครงการนำร่องเพื่อสร้างหลักสูตรการศึกษารองรับกับพัฒนาการที่กำลังจะเกิดขึ้นใน EEC แต่ก็ต้องถือว่าบุคลากรที่ผลิตได้ยังมีจำนวนน้อยและต้องเร่งดำเนินการขยายผลออกไปอีกโดยเร็ว

จากการสำรวจของ “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พบว่า ใน EEC มีความต้องการบุคลากรใน “7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย” และ “3 โครงสร้างพื้นฐาน” อีกจำนวนมาก โดยแรงงานที่เป็นที่ต้องการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนั้น

ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมดิจิทัล (116,222 ตำแหน่ง) 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (58,228 ตำแหน่ง) 3.อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (53,738 ตำแหน่ง) 4.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (37, 526 ตำแหน่ง) 5.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (16,920 ตำแหน่ง) 6.อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี (14,630 ตำแหน่ง) 7. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (11,538 ตำแหน่ง)

ส่วนแรงงานที่ต้องการในอีก “3 โครงสร้างพื้นฐาน” ได้แก่ 1.โลจิสติกส์ (109,916 ตำแหน่ง) 2.อุตสาหกรรมการบิน (32,836 ตำแหน่ง) 3. อุตสาหกรรมระบบราง (24,246 ตำแหน่ง)

ปัญหาเร่งด่วนในวันนี้ จึงอยู่ที่ประสิทธิภาพของ “การผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน” รวมตลอดถึงการ Up-skill หรือ Re-skill แรงงานที่มีอยู่ให้สามารถทำงานในทักษะใหม่ๆ ได้อย่างทันการและมีคุณภาพด้วย ครับผม!