'อนุทิน' ย้ำรบ.อนุมัติงบกลาง 1,000 ล้านบาท หนุนเข้าถึง 'วัคซีนป้องกันโควิด-19'

'อนุทิน' ย้ำรบ.อนุมัติงบกลาง 1,000 ล้านบาท หนุนเข้าถึง 'วัคซีนป้องกันโควิด-19'

“อนุทิน” ย้ำรัฐบาลอนุมัติงบกลาง 1,000 ล้านบาท สนับสนุนแผนเร่งรัดการเข้าถึง "วัคซีนป้องกันโควิด-19"

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.63  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้มีการประชุมกันที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองประธานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมด้วย นายอนุทิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของแผนเร่งรัดการเข้าถึง วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 "วัคซีนป้องกันโควิด-19" ของประชาชนไทย ภายใต้การดำเนินงานทั้ง 3 แนวทาง รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 ได้อนุมัติงบกลางวงเงิน 1,000 ล้านบาท สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีน

โดยกำหนดแนวทางการเข้าถึงวัคซีน คือ การพัฒนาและวิจัยวัคซีนโดยหน่วยงานในประเทศ ซึ่งวันนี้เรามีการพัฒนาในรูปแบบ 6 เทคโนโลยี อาทิ โครงการพัฒนาวัคซีน ในรูปแบบ mRNA ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าการทดสอบในลิงมีผลกระตุ้นได้ดีและอยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบในมนุษย์ โดยมติคณะรัฐมนตรีได้สนับสนุนงบกลางดังกล่าวให้จุฬาฯ ดำเนินการวิจัยรวมถึงการผลิตในระดับอุตสาหกรรมในกรอบวงเงินรวม 400 ล้านบาท ส่วนอีก 600 ล้านบาทเป็นการสนับสนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ประสานพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนของเอกชนในการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทในประเทศอังกฤษ เพื่อร่วมวิจัยพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าในแนวทางเรื่องการจัดหาวัคซีน จากต่างประเทศ เช่น โครงการเพื่อการเข้าถึง "วัคซีนป้องกันโควิด-19" อย่างเท่าเทียม (COVID-19 vaccine global access facility: COVAX facility) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) , Global Alliance for Vaccines and Immunisation (Gavi) และ Coalition for Epidemic Preparedness Innovations (CEPI) ที่ร่วมกันจัดตั้งกลไกให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด19 ที่เหมาะสม ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังมีการประสานงานเพื่อเจรจาทำความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตโดยตรงอีกด้วย

“ทั่วโลกต่างมีความต้องการ "วัคซีนป้องกันโควิด-19" แต่ประเทศที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณอาจมีความยากลำบากในการเจรจาเพื่อให้มีสิทธิในการเข้าถึงวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตระดับโลก ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องพยายามดำเนินการตามแผนงานทั้ง 3 แนวทางข้างต้น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประเทศไทยและเพื่อสร้างความมั่นคงทางวัคซีนและระบบสาธารณสุขของประเทศ ที่สำคัญรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้รับ "วัคซีนป้องกันโควิด-19" ในเวลาใกล้เคียงกับต่างประเทศ ซึ่งวันนี้เราเห็นแล้วว่ารัฐบาลได้สนับสนุนงบในส่วนนี้อย่างเต็มที่และการทำงานของพวกเราทุกคนมีความก้าวหน้า มีขั้นตอน และน่าจะเห็นผลสำเร็จได้ในอนาคตอันใกล้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้าย