'ประยุทธ์' ดันไฮสปีดเทรน EEC ระยะ2 เตรียมเปิดประมูลปีหน้า

'ประยุทธ์' ดันไฮสปีดเทรน EEC ระยะ2 เตรียมเปิดประมูลปีหน้า

นายกฯผลักดัน อีอีซี รับฟังแผนรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 อู่ตะเภา - จันทบุรี – ตราด เตรียมเข้า ครม.เปิดประมูลปี 64 คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 67 รองรับการขยายตัวพื้นที่เมืองในอีอีซี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างเยี่ยมชมนิทรรศการจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ณ โรงแรมสตาร์ คอนเนชั่น  ก่อนการประชุมนอกสถานที่ จ.ระยอง ว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำลังเดินหน้าไปด้วยดี เพราะบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพและมีความสงบเรียบร้อย รัฐบาลก็มุ่งหวังที่จะพยายามขยายการพัฒนา ให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงไปยังพื้นที่รอบนอกอีอีซี โดยยืนยัน รัฐบาลจะสร้างความมั่นคงและทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตไปพร้อมกันทั้ง 6 ภาค และ จะพยายามหามาตรการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มากขึ้น

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.  กล่าวว่า  ได้ชี้แจงความคืบหน้าโครงการอีอีซีในส่วนของโครงการสำคัญๆในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี และให้ข้อมูลนายกรัฐมนตรี และ ครม. ถึงแผนที่เชื่อมโยงโครงการสำคัญ ๆ ของอีอีซี ในจังหวัดระยอง เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะที่ 1 ระยะทาง 220 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้เริ่มก่อสร้างแล้วจะแล้วเสร็จในปี 2567 รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมโยง โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เป็นต้น พร้อมประโยชน์จากอีอีซีในภาพรวมที่จังหวัดระยองจะก้าวไปสู่ เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ การท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชุมชนเกษตรกรรายได้ดี คู่กับอุตสาหกรรมสะอาด เยาวชนในพื้นที่พร้อมมีงานดีรายได้มั่นคงรองรับ

 

สำหรับรายละเอียดของโครงการรถไฟความเร็วสูงในโครงการอีอีซีระยะที่ 2 จะเริ่มก่อสร้างต่อจากสถานีอู่ตะเภา จ.ระยองไปยัง จ.จันทบุรี และ จ. ตราด รวมระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2571 โดยเป็นส่วนต่อขยายจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินระยะที่ 1 จะสามารถเดินทางจากสถานีอู่ตะเภาถึงจังหวัดตราดได้ในระยะเวลา 64 นาที

โดยขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด และคาดว่าจะนำเสนอ ครม.อนุมัติโครงการได้ในปี 2564 และคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้ลงทุนได้ในปี 2567 แล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2571 ซึ่งจะนำไปสู่โครงการต่อเนื่องคือ โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เพื่อยกระดับภาคตะวันออกสู่แหล่งผลไม้หลักของภูมิภาค รวมทั้งการขยายเมืองรอบพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา 30 กิโลเมตรทั้งพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่เศรษฐกิจ