เจาะเหตุ ต้นทาง72ชม.ไร้โควิด-19 ปลายทางไทยกลับพบเชื้อ

เจาะเหตุ ต้นทาง72ชม.ไร้โควิด-19 ปลายทางไทยกลับพบเชื้อ

ชายไทย46ปีจากสหรัฐฯตรวจพบโควิด ให้ประวัติเคยติดเชื้อมาก่อน คร.เผยอยู่ระหว่างสอบสวนโรคหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบหลักฐานผลแล็บ-แพทย์เคยวินิจฉัย

       จากกรณีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 มีรายงานผู้ติดโควิด-19รายใหม่ 5 ราย โดยทั้งหมดเป็นคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้าอยู่ในสถานที่กักกัน แต่มี 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 46 ปี กลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2563 ให้ประวัติว่าเคยป่วยเป็นโควิด-19มาก่อน และเมื่อตรวจเชื้อหลังเดินทางถึงไทยยังพบเชื้อแต่ไม่มีอาการนั้น

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รายนี้ยังเป็นเพียงการให้ประวัติของเจ้าตัวเท่านั้น กระบวนการ คือ ทีมสอบสวนโรคก็จะไปสอบสวนว่าประวัติที่ให้นั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เหมือนกับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลแล้วให้ประวัติว่าเป็นนั่นเป็นนี่ หน้าที่ของแพทย์คือต้องดูว่าสิ่งที่ผู้ป่วยเล่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กรณีนี้ก็เช่นกัน เมื่อบอกว่าประวัติเคยเป็นโควิด-19 มีหลักฐานอะไร เช่น มีหลักฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ) ผลการวินิจฉัยของแพทย์ และยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นซากไวรัสหรือไม่ ทั้งหมดต้องรอผลการสอบสวนโรค

ต่อข้อถามว่าในข้อกำหนดก่อนเดินทางมายังประเทศไทยต้องมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง แต่รายนี้เมื่อมาถึงประเทศไทยกลับตรวจพบเชื้อในการตรวจครั้งแรก นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ตรงนี้ก็จะไปดูในการสอบสวนโรคด้วย เพราะเป็นเหมือนการให้ประวัติปากเปล่า ทีมงานต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยมีรายงานผลการตรวจโควิด-19เป็นลบ ใน 72 ชั่วโมง แต่เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยกลับตรวจเจอโควิด-19ในครั้งแรกที่ตรวจนั้น รายนี้ไม่ใช่รายแรก ก่อนหน้านี้ มีกรณีผู้ป่วยชาวกาตาร์ที่เดินทางเข้ามารักษาโรคมะเร็งตับ มีผลการตรวจโควิด-19ก่อนเข้าประเทศไทยเป็นลบเช่นกัน แต่เมื่อเข้าพักในสถานพยาบาลทางเลือก(Alternative Hospital Quarantine:AHQ)ที่จะทำการรักษามะเร็งตับกลับตรวจพบเชื้อ แต่ผู้ใกล้ชิดไม่มีใครติดเชื้อ 
   
     ทั้งนี้ การที่จะเจอกรณีผลแล็บ 72 ชั่วโมงจากประเทศต้นทางไม่พบโควิด-19 แต่เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยและตรวจเชื้อครั้งแรกในวันที่มาถึงกลับพบเชื้อนั้น อาจจะเป็นไปได้ใน 3 กรณี  คือ
       1.ผู้ป่วยให้ประวัติเท็จว่าเคยติดโควิด-19ในต่างประเทศมาก่อน แต่ความจริงไม่เคยป่วย และช่วงที่ตรวจแล็บต้นทางอาจเพิ่งรับเชื้อจึงยังตรวจไม่เจอ เมื่อถึงประเทศไทยอยู่ในระยะที่ตรวจเจอเชื้อได้ 
      2.การตรวจแล็บในประเทศต้นทาง อาจไม่ได้ใช้วิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐาน และ3.การตรวจพบเชื้อในประเทศไทยอาจเป็นซากไวรัส ซึ่งผู้เดินทางกลับอาจจะเคยติดเชื้อแล้วขณะอยู่ต่างประเทศ อาจจะไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก 

      ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า วิธีการตรวจเชื้อไวรัสไวมาก แม้มีไวรัสเพียง 1-2 ตัวก็หาเจอ เพราะการตรวจในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีสูง สามารถขยายไวรัสจาก 1 ตัว เป็นล้านๆเท่า เพราะฉะนั้น หากหลงเหลืออยู่เพียงเศษซากชิ้นส่วนไวรัสก็สามารถตรวจเจอ

แต่กรณีที่บางครั้งตรวจไม่เจอหากมีน้อยมากก็เกิดขึ้นได้ เพราะอาจไปหลบอยู่ตรงจุดที่ป้ายคอไม่โดนในครั้งหนึ่ง แต่เมื่อตรวจซ้ำป้ายคอจุดอื่นก็อาจเจอ จึงไม่แปลกที่หากมีปริมาณน้อยมากจะตรวจไม่เจอ ผ่านไปอีกไม่กี่วันอาจตรวจเจอ แต่การเจอจะเป็นปริมาณที่น้อยๆมากๆ

      และทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลที่มีการกำหนดให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจะมีผลแล็บใน 72 ชั่วโมงจากประเทศต้นทางแล้วว่า "ไม่พบเชื้อ" แต่เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยจะต้องเข้ารับการกักตัวในสถานที่กักกันจนครบ 14 วัน และจะต้องมีการตรวจเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะต้องเป็นวันที่เดินทางมาถึง หรือไม่เกิน 3 วัน