รมช.แรงงาน ขานรับนโยบายเขต EEC เร่งพัฒนาแรงงานรับดิจิทัล

"นฤมล" ขานรับนโยบายรัฐบาลเขต EEC เร่งยกระดับทักษะแรงงานรับดิจิทัล

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 63 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ดร.ภาคิน สมมิตรธนกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางจุรีพร สินธุไพร คณะทำงาน เดินทางถึงโรงแรมสตาร์ ตอนเวนซัน เพื่อเตรียมเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2563 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ช่วงเวลาก่อนการประชุมได้เยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ ได้แก่ ชมผลิตภัณฑ์ กศน. พรีเมียม ภายใต้แบรนด์ ONE (จ.ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี) ผลงานนวัตกรรม : แอพพลิเคชัน depa 2.5 ในโครงการพัฒนาระบบเรืออัจฉริยะ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาการจัดการคลังสินค้าวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง เป็นผลิตภัณฑ์
ยางพารา โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นิทรรศการประโยชน์อีอีซีส่งตรงคนพื้นที่ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นิทรรศการโครงการ Circular Living โดยกลุ่มบริษัท ปตท. นิทรรศการระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ iSEE 2.0 เพื่อรายงานสถานการณ์นักเรียนยากจนที่เพิ่มขึ้นหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ

หลังจากเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ เรียบร้อยแล้ว นางนฤมล ร่วมถ่ายภาพกับนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง

จากนั้น นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) ณ ห้องประชุมสุนทรภู่ ชั้น 2 และในเวลา 10.30 น. เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมสุนทรภู่ ชั้น 2 โรงแรมสตาร์ คอนเวนชัน

นางนฤมล เผยว่า ในส่วนที่กระทรวงแรงงานรับผิดชอบ โดยเฉพาะการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานป้อน EEC ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีความพร้อม ทั้งการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงาน การส่งเสริมด้านมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้ได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล เป็นทักษะที่สถานประกอบกิจการมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะในด้านดังกล่าว ซึ่งเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานในการคัดเลือกเข้าทำงาน การกำหนดสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ต้องผ่านการรับรองความรู้ความสามารถ โดยเพิ่มจำนวนสาขาอาชีพนอกเหนือจากสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร รวมถึงการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับพนักงานของตนเองมากยิ่งขึ้น มีมาตรการจูงใจการลดหย่อนภาษีและมาตรการจูงใจในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก ซึ่งจะได้วางแผนร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการความช่วยเหลือแก่แรงงานและสถานประกอบกิจการ ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานและเขต EEC ต่อไป