ตรวจเชื้อ-ตามรอยโรค ‘ไม่พอรับมือโควิด-19’

ตรวจเชื้อ-ตามรอยโรค ‘ไม่พอรับมือโควิด-19’

การตรวจหาเชื้อโควิด-19 และตามรอยโรค ถือเป็นมาตรการสำคัญสำหรับชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่นักวิจัยเตือนว่า แค่นี้ยังไม่พอ ต้องมีมาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย

คณะนักวิจัยตีพิมพ์รายงานผ่านวารสารโรคติดเชื้อ “แลนเซ็ต” ใช้ตัวแบบทางคณิตศาสตร์ตรวจสอบข้อมูลจากการศึกษาครั้งก่อนหน้า พบว่าการตรวจหาเชื้อและตามรอยโรคสามารถลดอัตราความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อ (ค่าอาร์) ลงได้ 26%

ค่าอาร์ หมายถึง ค่าเฉลี่ยที่ผู้ป่วย 1 คน จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้กี่คนในประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน หากค่าเกิน 1 หมายถึง เชื้อโรคจะขยายตัวต่อไป ดังนั้นค่าต่ำกว่า 1 จึงเป็นเกณฑ์พื้นฐานว่าโรคจะค่อยๆ ลดลง

ในบางประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้แล้ว แต่ตอนนี้ต้องพยายามป้องกันไม่ให้กลับมาติดเชื้อใหม่มีค่าอาร์เกิน 1 อยู่มาก

159785701039

ตัวอย่างเช่น ในฝรั่งเศส ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติระบุว่า สัปดาห์แรกของเดือน ส.ค. ตัวเลขวนเวียนอยู่ที่ 1.33 แต่นิโคลัส แกรส์ลีย์ หัวหน้าคณะนักวิจัย อาจารย์วิทยาลัยสาธารณสุข แห่งอิมพิเรียลคอลเลจ เผยถึงข้อค้นพบใหม่ที่มาพร้อมกับเสียงเตือน

“ผลการศึกษาของเราพบว่า การตรวจและตามรอยโรคสามารถลดค่าอาร์ได้จริง แต่จำเป็นต้องกระทำอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม นั่นหมายความว่า ต้องตรวจหาเชื้อทันทีที่มีอาการและทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง การกักกันผู้ที่เคยสัมผัสผู้ติดเชื้อก็ต้องทำภายใน 24 ชั่วโมง และระบุผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสได้ 80%

มีเพียงไม่กี่ที่เท่านั้น ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเยอรมนี ที่เข้าใกล้คู่มือเหล่านี้ ประเทศส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้ตามเกณฑ์ ดูอย่างฝรั่งเศส กว่าจะนัดตรวจเนื้อเยื่อในโพรงจมูกที่เรียกว่า พีซีอาร์เทสต์ได้ก็ต้องใช้เวลาหลายวัน กว่าจะทราบผลเฉลี่ย 3.5 วัน

ในสหรัฐและสหราชอาณาจักรอาจล่าช้ายิ่งขึ้นไปอีก และแม้ชาติต่างๆ ปฏิบัติตามคู่มือเหล่านี้ ก็ยังไม่มากพอจะกดอัตราการติดเชื้อให้ลดลงอย่างพอเพียงได้ด้วยตนเอง

แกรสลีย์ขยายความว่า เฉพาะการตรวจและตามรอยโรคไม่เพียงพอควบคุมการติดเชื้อในชุมชนส่วนใหญ่ จำเป็นต้องใช้มาตรการอื่นควบคู่กันเพื่อกดค่าอาร์ให้ต่ำกว่า 1

คณะนักวิจัยพบว่า มาตรการที่ควรนำมาเสริม ได้แก่ ตรวจคัดกรองประชากรเสี่ยงสูงเป็นประจำทุกสัปดาห์ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีอาการหรือไม่ วิธีนี้สามารถลดการแพร่เชื้อได้เพิ่มอีก 23%

159785694966

ผู้เชี่ยวชาญยังไม่แน่ใจว่าประชากรกี่เปอร์เซ็นต์ต้องมีภูมิคุ้มกันที่เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสกระจายต่อเนื่อง ประเมินกันที่ต่ำกว่า 50-70%

เป็นไปได้ว่า บางพื้นที่ที่โควิด-19 ระบาดหนักสุดอย่างนครนิวยอร์ก ภาคเหนือของอิตาลี อาจใกล้เคียงระดับที่ว่าแล้ว แต่ในระดับประเทศตัวเลขยังต่ำมาก เผลอๆ อาจแค่เลขสองหลักต้นๆ เท่านั้น

ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวเมื่อวันอังคาร (18 ส.ค.) ว่า โลกใบนี้ยังไม่มีที่ใดมีระดับภูมิคุ้มกันเข้าใกล้ระดับป้องกันโควิด-19 ได้

159785716271

“ผู้คนไม่ควรมีชีวิตอยู่ด้วยความหวังว่าภูมิคุ้มกันหมู่คือทางรอด สำหรับตอนนี้นี่ไม่ใช่ทางออก” ไรอันกล่าว

ส่วนวัคซีนนั้นแน่นอนว่าช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ แต่ไม่มีทีท่าว่าจะพร้อมใช้จนกว่าจะถึงปีหน้า

ขณะนี้มีแต่คนที่ติดโควิด-19 แล้วรอดชีวิตมาได้เท่านั้นจึงจะมีภูมิคุ้มกันบางระดับ กระนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันแข็งแกร่งขนาดไหนและคงอยู่นานเพียงใด ทั้งยังไม่ทราบว่าผู้ที่ป่วยอ่อนๆ หรือติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการมีภูมิคุ้มกันด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ นับตั้งแต่โควิด-19 ปรากฏขึ้นในจีนเมื่อเดือน ธ.ค.2562 ถึงวันนี้คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกเกือบ 775,000 คน ติดเชื้อเกือบ 22 ล้านคน

159785708510

ด้านทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ กล่าวถึงวัคซีนว่า โลกจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดวัคซีนชาตินิยม เพื่อรับประกันว่าการจัดสรรและการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 จะเป็นไปอย่างยุติธรรม เมื่อการพัฒนาวัคซีนสำเร็จ กลุ่มที่ปรึกษาเชิงยุทธศาสตร์ของดับเบิลยูเอชโอจะให้คำแนะนำเพื่อการใช้วัคซีนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

การจัดสรรวัคซีนได้รับการเสนอให้ทำเป็นสองเฟส โดยในเฟส 1 จะเป็นการจัดสรรวัคซีนตามสัดส่วนให้กับทุกประเทศที่เข้าร่วมในแผนการพัฒนาวัคซีนของดับเบิลยูเอชโอและจัดสรรให้กับทุกประเทศพร้อมๆ กันเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม

ขณะที่ในเฟส 2 จะเป็นการพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศที่มีความเสี่ยงและเปราะบาง

“สำหรับประเทศส่วนใหญ่แล้ว การจัดสรรวัคซีนในเฟส 1 ซึ่งคิดเป็น 20% ของประชากรนั้น จะครอบคลุมถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกือบทุกกลุ่ม” ผอ.ดับเบิลยูเอชโอกล่าว