'อนามัยโลก' ห่วงหนุ่มสาวแพร่โควิด

'อนามัยโลก' ห่วงหนุ่มสาวแพร่โควิด

วัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่แข็งแรง แต่ตอนนี้องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กำลังเป็นห่วงว่า คนหนุ่มสาวในวัย 20-40 ปี ทำให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แพร่กระจาย เพราะหลายคนติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว เป็นอันตรายต่อประชากรกลุ่มเสี่ยง

ไม่กี่วันก่อนดับเบิลยูเอชโอเผยว่าสัดส่วนประชากรอายุน้อยที่ติดโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก เพิ่มความเสี่ยงให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น คนชรา และผู้ป่วยในพื้นที่ที่ผู้คนอาศัยกันอยู่หนาแน่น ระบบสาธารณสุขอ่อนแอ

ล่าสุดวานนี้ (18 ส.ค.) ทาเคชิ คาซาอิ ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ ประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การระบาดกำลังเปลี่ยนแปลงไป “คนในวัย 20, 30 และ 40 ปี กำลังช่วยแพร่โรคมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้คนกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ”

การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอีกรอบทำให้บางประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง ขณะที่บริษัทยาต่างแข่งกันหาวัคซีนพิชิตโควิด-19 ที่เล่นงานเศรษฐกิจย่ำแย่ไปตามๆ กัน คร่าชีวิตประชาชนกว่า 770,000 คน ติดเชื้อทั่วโลกเกือบ 22 ล้านคน

หลายประเทศที่เคยคุมโควิด-19 ได้แล้วกลับมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก เช่น เวียดนาม ที่ใช้มาตรการสกัดโรคเชิงรุกจนไม่มีการติดเชื้อในประเทศมานานถึง 3 เดือน ก็มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

คาซาอิมองว่า นี่ไม่ใช่การกลับมาติดเชื้อใหม่แบบพื้นๆ “เราเชื่อว่านี่คือสัญญาณการระบาดเฟสใหม่ในเอเชียแปซิฟิก” หลายประเทศสามารถลดความปั่นป่วนในการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจได้มากขึ้น ด้วยการรีบตรวจหาเชื้อและจัดการการติดเชื้อเสียแต่เนิ่นๆ

และแม้ไวรัสจะกลายพันธุ์ แต่คาซาอิยืนยัน ดับเบิลยูเอชโอยังคงมองว่า ไวรัสค่อนข้างเสถียรแล้ว

ในเรื่องการผลิตวัคซีน ดับเบิลยูเอชโอขอให้บริษัทยาดำเนินตามขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาที่จำเป็นทุกอย่าง

โซคอร์โร เอสคาเลนเต เจ้าหน้าที่เทคนิคและที่ปรึกษาฝ่ายนโยบายการแพทย์ กล่าวว่า ดับเบิลยูเอชโอกำลังประสานกับรัสเซีย ที่เพิ่งอนุมัติวัคซีนโควิด-19 เป็นประเทศแรกไปเมื่อไม่กี่วันก่อน โดยหวังว่าจะได้หลักฐานเรื่องวัคซีนใหม่จากรัสเซีย

เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เคยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค แต่การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก วานนี้ (18 ส.ค.) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (เคซีดีซี) รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ ตัวเลขเมื่อเที่ยงคืนวันจันทร์ (17 ส.ค.) 246 คน เพิ่มระดับหลักร้อยเป็นวันที่ 5 ส่งผลยอดผู้ติดเชื้อทั้งประเทศอยู่ที่ 15,761 คน เสียชีวิต 306 คน

หลังจากสองวันก่อนต้องใช้มาตรการเว้นระยะอย่างเข้มงวดอีกครั้งในกรุงโซล วานนี้รัฐบาลขยายมาตรการออกไปถึงเมืองท่าอินชอน พร้อมกับสั่งปิดไนท์คลับ ร้านคาราโอเกะ ร้านอาหารบุฟเฟต์ และอินเทอร์เน็ตคาเฟ ห้ามโบสถ์ทำพิธีทุกอย่างที่ต้องพบหน้าค่าตา ห้ามประชาชนรวมตัวในอาคารเกิน 50 คน กลางแจ้งห้ามรวมกันเกิน 100 คน

นายกรัฐมนตรีชอง เซกยุน แถลงหลังประชุมฉุกเฉินว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สามารถควบคุมไวรัสได้ จึงต้องเพิ่มมาตรการเว้นระยะให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งจะส่งผลใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจและชีวิตประชาชน

คิม กังลิป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 457 คน เกี่ยวข้องกับโบสถ์ซารังจิล ในจำนวนนี้ 10 คน ได้รับการยืนยันว่าเคยไปร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่กรุงโซล เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่พยายามติดตามสมาชิกโบสถ์คนอื่นๆ อีกราว 500 คน เพื่อแจ้งให้กักตัวเองและตรวจหาเชื้อ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่โบสถ์กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดรุนแรงในเกาหลีใต้

เมื่อเดือน ก.พ.เคยเกิดการระบาดที่โบสถ์ของลัทธิหนึ่งในเมืองแทกู ทำให้เกาหลีใต้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในขณะนั้น ส่วนการระบาดรอบนี้เคซีดีซีเตือนว่า อาจสร้างวิกฤติรุนแรงยิ่งกว่า ถึงขั้นที่ระบบสาธารณสุขอาจรองรับไม่ไหว