วารสารศาสตร์ไม่ตายหรอก

วารสารศาสตร์ไม่ตายหรอก

อาชีพนักข่าว คนเขียนหนังสือ บรรณาธิการเริ่มตกงานมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือมีนักศึกษาเลือกเรียนสาขาวิชานี้น้อยลงเรื่อย ๆ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มปิดภาควิชาเหล่านี้

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งไปให้ความเห็น หลักสูตรภาควิชาสื่อสารมวลชนและวารสารศาสตร์ ควรจะปรับปรุงอย่างไรตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ต้องยอมรับว่า คณะวารสารศาสตร์ ดูจะเป็นคณะที่โดน disruption มากที่สุด ส่วนหนึ่งอาจจะมีผลมาจากการปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร

อาชีพนักข่าว คนเขียนหนังสือ บรรณาธิการเริ่มตกงานมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือมีนักศึกษาเลือกเรียนสาขาวิชานี้น้อยลงเรื่อย ๆ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มปิดภาควิชาเหล่านี้

ผู้เขียนให้ความเห็นไปในฐานะผู้ที่คลุกคลีกับสื่อมานาน ตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ว่า อย่างไรเสีย ผู้คนในสังคมก็ยังต้องติดตามข่าวสารบ้านเมืองต่อไป คนรุ่นเก่าอาจจะเป็นหนังสือพิมพ์ ทีวี ขณะที่คนรุ่นใหม่อาจจะเป็นสื่อออนไลน์ที่มีปริมาณรับชมมากขึ้นเรื่อย ๆ

สื่อมวลชนยังมีอิทธิพลต่อโลกยุคใหม่เสมอ เพียงแต่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด แต่คนในวงการสื่อสารมวลชนและวารสารศาสตร์จะปรับตัวอย่างไร ผู้เขียนให้ความเห็นพอสรุปได้ว่า

1. เราต้องเข้าใจว่า สื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นกระดาษ สื่อทีวี หรือสื่อออนไลน์ เป็นเพียงแค่รูปแบบของแพลตฟอร์มแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งหัวใจสำคัญของแพลตฟอร์มเหล่านี้คือ การสร้างเนื้อหาให้โดดเด่น  คุณจะลงทุนสร้างสตูดิโอห้องส่งหลายร้อยล้าน มีอุปกรณ์ทันสมัย มีผู้ประกาศชื่อดัง แต่หากเนื้อหาข่าวไม่ได้โดดเด่น คนดูก็ย้ายช่อง เช่นเดียวกับการเขียนข้อความในสื่อออนไลน์ จะสร้างประเด็นและเนื้อหาชวนติดตามได้อย่างไร 

แต่แน่นอนว่าการเขียนเนื้อหาในสิ่งพิมพ์ ทีวี หรือออนไลน์ ก็มีกลวิธีการเขียนเนื้อหาไม่เหมือนกัน อาทิเช่น สื่อสิ่งพิมพ์ให้ความสำคัญกับการเขียนเนื้อหาเต็มที่ สื่อทีวีให้ภาพเล่าเรื่อง เนื้อหาข่าวทำหน้าที่เสริม ขณะที่สื่อออนไลน์ให้น้ำหนักกับการเขียนที่กระชับ สั้น มีประเด็นชัดเจน ตามพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ไม่อดทนอ่านอะไรนาน ๆ ซึ่งผู้สอนจะต้องเข้าใจธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์มว่าแตกต่างกันอย่างไร

ผู้เขียนย้ำว่า ทุกวันนี้ในโลกของสื่อออนไลน์ ที่เกิดขึ้นกันมากมาย ยังขาดแคลนคนเขียนคอนเทนต์คุณภาพมาก คอลัมนิสต์ชื่อดังจำนวนมากได้ย้ายแพลตฟอร์มจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปอยู่บนสื่อออนไลน์เรียบร้อยแล้ว บางคนมีงานเขียนมากกว่าที่เคยเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์เสียอีก

แต่แน่นอนว่า คอลัมนิสต์หลายท่านที่เคยเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยวิธีการเดิม ๆ แต่ไม่เข้าใจวิธีการเขียนในโลกออนไลน์ ไม่สามารถปรับตัวได้ ก็อาจจะเสื่อมความนิยมไป

2. ในสนามข่าว บรรณาธิการยังต้องการนักข่าวที่เข้าใจเนื้อหาเชิงลึกมาก ท่ามกลางการแข่งขันด้านข่าวอย่างรุนแรงในสนามข่าว สื่อใดที่สามารถนำเสนอประเด็นอันเฉียบคมหรือโดดเด่น จะได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งเกิดจากนักข่าวที่มีความรู้อย่างลึกซึ้ง มากกว่านักข่าวทั่วๆไป อาทิ หากให้เลือกนักข่าวเศรษฐกิจ บรรณาธิการน่าจะอยากได้คนที่จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์มากกว่าจบด้านสื่อสารมวลชน เพราะเชื่อว่านักข่าวที่จบเศรษฐศาสตร์ น่าจะมีพื้นความรู้ด้านเศรษฐกิจดีกว่า

นั่นหมายความว่า หลักสูตรสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัย ต้องมีวิธีกระตุ้นให้นักศึกษา สนใจหาความรู้หลากหลายทางด้านเนื้อหา มากกว่าสนใจหาความรู้ด้านรูปแบบหรือเทคนิคการทำข่าวหรือกลวิธีเขียนข่าวเพียงอย่างเดียว

3. ในโลกของการสื่อสารทุกชนิด เรายังขาดแคลนคนมีคุณภาพด้านเนื้อหา เรายังขาดแคลนคนที่ตั้งคำถามอันแหลมคม เรายังขาดแคลนคนที่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ข่าวได้อย่างแม่นยำ คนที่มีคุณภาพเหล่านี้คือ คนที่สะสมข้อมูลต่าง ๆ มายาวนาน หรือพูดง่าย ๆว่า มีของข้างในเยอะ อ่านหนังสือมาก สนใจค้นคว้า สะสมข้อมูลมายาวนาน และเมื่อคนเหล่านี้ลงสนาม ความน่าเชื่อถือของการทำข่าวก็จะโดดเด่นกว่า

คนเหล่านี้จึงสามารถตั้งคำถามคมๆ หรือวิเคราะห์สถานการณ์ได้ดี หรือเปิดประเด็นข่าวได้แหลมคมและแตกต่าง อย่าลืมว่า ความน่าเชื่อถือคือหัวใจสำคัญของการทำข่าว และบุคลากรเหล่านี้คือกลจักรสำคัญ

ภาควิชาวารสารหรือสื่อสารมวลชนยังเป็นที่ต้องการในตลาดสื่อ แต่อยู่ที่ว่า บรรดาผู้บริหารเข้าใจความต้องการจริง ๆหรือไม่ และปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกของความเป็นจริงอย่างไร โดยเฉพาะบรรดาอาจารย์ผู้สอนทั้งหลาย

 ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงหลักสูตร