เจโทร จัดพิทชิง เชื่อม ‘สตาร์ทอัพ' และทุนญี่ปุ่น

เจโทร จัดพิทชิง เชื่อม ‘สตาร์ทอัพ' และทุนญี่ปุ่น

ส่องสตาร์ทอัพสัญชาติไทย เข้าพิทชิ่ง ชิงเงินทุนญี่ปุ่น บนเวที “Japan-Thai Open Innovation DX Platform Webinar ครั้งที่ 2”

ยุคนี้ สตาร์ทอัพจะพุ่งแรงไปไกลได้จะต้องมีไอเดียทางธุรกิจ ซึ่งองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ร่วมกับสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และบริษัทเมดิเอเตอร์ จัดงาน “Japan-Thai Open Innovation DX Platform Webinar ครั้งที่ 2” ได้เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพไทยได้พิทชิง (Pitching) หรือเสนอไอเดียให้กับนักลงทุนที่สนใจจะร่วมลงทุนได้รับฟังความคิด จะนำไปสู่การเชื่อมโยงและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพไทยกับผู้ประกอบการญี่ปุ่น เพื่อก้าวไปสู่สตาร์ทอัพระดับภูมิภาคอาเซียน

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ซีอีโอบริษัทอุ๊คบี (Ookbee) เป็นอีบุ๊คแพลตฟอร์มสัญชาติไทย และผู้บริหารกองทุน 500 Tuktuks ซึ่งเป็น Venture capital ของกลุ่ม 500 Startups เล่าถึงภาพรวมวงการสตาร์ทอัพไทยว่า ไทยเป็นประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มอนุภูมิภาค CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ซึ่งเชื่อว่า ไทยและกลุ่ม CLMV เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ และพวกเรากำลังมองหาลู่ทางให้กับสตาร์ทอัพในภูมิภาค เพื่อสร้างโอกาสและมูลค่าในการลงทุนระยะแรก

“สิ่งที่นักลงทุนต้องการมากที่สุด คือการได้รับข้อเสนอที่ดีในช่วงเริ่มต้นและเกิดขึ้นบ่อยๆ ต่อเนื่อง โดยเชื่อว่า ณ จุดนี้สตาร์ทอัพไทยสามารถทำได้ ไม่ว่าเป็นการสร้างสรรค์เทคโนโลยีตอบโจทย์ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก หรือความสามารถในการดึงดูดนักลงทุน” ณัฐวุฒิ กล่าว

159730997230

สำหรับกองทุน 500 Tuktuks ซึ่งเป็น Venture capital ของกลุ่ม 500 Startups จากซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐ มีภารกิจหลักคือการ Seed Funding ให้กับบรรดาเหล่าสตาร์ทอัพรุ่นใหม่และส่วนหนึ่งได้ช่วยทำการตลาดเบื้องต้น เพื่อสนับสนุนทำให้สตาร์ทอัพเติบโตได้ และต้องสามารถอยู่ไปได้ 12-18 เดือน และต้องเติบโตได้ 5 เท่า 10 เท่า เมื่อนั้นก็จะสามารถนำอัตราการเติบโตนี้ มาชักชวนให้นักลงทุนร่วมระดมทุนในวันข้างหน้าได้มากขึ้น

500 Tuktuks เป็นกองทุนขนาดกว่าพันล้าน ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนกับธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ โดยร่วมลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ เช่น โอมิเซะ, โพเมโล่, สกิลเลน, เคลมดิ, ซีคสเตอร์, สกูต้า และอื่นๆ อีกกว่า 75 บริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่ อุ๊คบีแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ณัฐวุฒิเป็นผู้ก่อตั้ง ขณะนี้ได้รับความนิยมในบรรดาผู้ที่ชื่นชอบการอ่าน ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ด้วยยอดขายกว่าพันล้าน จากผู้อ่านกว่า 7 ล้านคนภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี ปัจจุบันอุ๊คบีได้เติบโตขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

159730998030

อย่างไรก็ตาม ในเวทีการร่วมพิทชิงครั้งนี้ จัดผ่านช่องทางออนไลน์ เปิดโอกาสให้เหล่าสตาร์ทอัพไทยที่ร่วมโครงการนำเสนอไอเดียธุรกิจต่อผู้ประกอบการญี่ปุ่น สตาร์ทอัพ นักลงทุน ผู้ประกอบการจากหลากหลายวงการ ทั้งไทย ญี่ปุ่น และต่างประเทศไปพร้อมๆ กันทั่วโลก 

ครั้งนี้มีสตาร์ทอัพ 3 แห่งที่ได้รับคัดเลือเข้าร่วมพิทชิงในครั้งนี้ ได้แก่ DRVR เป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีขนส่งและโลจิสติกส์ (Logitech) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สำหรับยานพาหนะและขบวนรถขนส่ง ซึ่งช่วยบริหารจัดการการขนส่งให้คุ้มค่าและวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญของธุรกิจ ปัจจุบัน DRVR มีลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก ได้แก่ Sojitz, Toppan, Tokio Marine และยังเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าร่วม “500 Startups Kobe” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น 

EDEN AGRITECH สตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมการเกษตร (Agritech) ผู้พัฒนาสารเคลือบธรรมชาติ ช่วยยืดอายุและความสดใหม่ของผัก ผลไม้ ผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งลดการสูญเสียระหว่างการขนส่งและค่าใช้จ่ายในการผลิต 

ที่ผ่านมา EDEN ได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกอบการหลายแห่ง อาทิ ทิปโก้, ไทยวา, ซีพีออลล์ และยังได้รับรางวัล “Top Innovation Award” ที่ Thaifex ปี 2562 และรางวัลชนะเลิศการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริงในปี 2562 ของธนาคารออมสินอีกด้วย 

บิลค์ (BUILK) สตาร์ทอัพเทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง (Construction Tech)  ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและลดความ เสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ล่าสุด บิลค์ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทญี่ปุ่น อาทิ ไทยโอบายาชิ ไทยนิชิมัตสุ ให้เข้ามาช่วยในการก่อสร้าง นอกจากนี้ บิลค์ยังเป็นสตาร์ทอัพที่เข้าร่วม 500 Startups Accelerator รุ่นที่ 7 ในปี 2556 และได้รับรางวัล Digital Startup ในงาน Digital Thailand Big Bang ปี 2561

อย่างไรก็ตาม สตาร์ทอัพเหล่านี้จะได้ทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติ และช่วยสนับสนุนไทยเป็นตลาดเทคโนโลยีชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป