ประเทศไทยไตรมาส1 : สรุป 3 เดือนแรกของปี 2563 ทรุดลงหรือดีขึ้น?

ประเทศไทยไตรมาส1 : สรุป 3 เดือนแรกของปี 2563 ทรุดลงหรือดีขึ้น?

การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น คดีอาญาลดลง เหล่านี้คือสถานการณ์สำคัญของไทยในไตรมาส 1 ปี 2563 (ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม) จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒน์

เข้าสู่ภาวะครึ่งปีหลังอย่างเป็นทางการ สำหรับเดือนสิงหาคม 2563 นี้ โดยครึ่งปีแรกสถานการณ์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจหนีไม่พ้น โรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ใครหลายคนต้องผ่านประสบการณ์ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กักตัวเองไม่ออกไปไหนในช่วงปลายมกราคมจนถึงพฤษภาคม

ถึงแม้ว่าเราจะ ล็อคดาวน์ กันขนาดไหน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมกลับไม่หยุดนิ่งตามการล็อคดาวน์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปเจาะความเคลื่อนไหวที่สำคัญของสังคมไทยในไตรมาส 1 ปี 2563 (ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม) จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาดูสิว่าเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

159612161541

  • การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปี 2563 ไตรมาส 1 พบว่าผู้มีงานทำมีอยู่จำนวน 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังไม่แสดงผลกระทบในจำนวนการจ้างงานภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ และผู้ประกอบการยังรอดูสถานการณ์ของผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อการจ้างงานคือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 9.0 นอกจากนั้น สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง

นอกจากนี้ยังผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน เพิ่มขึ้นจากผู้ว่างงานในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 0.92

159612163046

  • หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย มีมูลค่า 13.47 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 โดยเป็นผลจากการปรับตัวลดลงในสินเชื่อทุกประเภท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 79.8 สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาสเนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าการชะลอตัวของหนี้สินครัวเรือน ด้านภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลง

โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีมูลค่า 156,227 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.23 ต่อสินเชื่อรวม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย แต่มาตรการต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการระยะสั้นและมุ่งบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น

159612164727

  • ผู้ป่วยโรคระบาดประจำฤดูลดลง

มีผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังรวม 189,319 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 19.9 เป็นการลดลงเกือบทุกโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 42.8 ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 26.9 ผู้ป่วยโรคหัดลดลงร้อยละ 64.6 และผู้ป่วยโรคฉี่หนูลดลงร้อยละ 44.4

159612165949

  • บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 3.0 แบ่งเป็น แอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 5.5 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.0 ทั้งนี้ จากมาตรการภาครัฐที่ได้มีการปิดสถานบันเทิง และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงที่ผ่านมา   (หลังจากไตรมาส1)   ส่งผลให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเดือนเมษายนลดลง โดยเหตุผลส่วนใหญ่แบ่งเป็น

1.หาซื้อไม่ได้ หรือ ซื้อยาก

2.กลัวเสี่ยงติดเชื้อ

3.รายได้น้อยลง หรือไม่มีเงินซื้อ

159612171296

  • คดีอาญาลดลง

คดีอาญารวมลดลงร้อยละ 4.8 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยลดลงทั้งการรับแจ้งคดียาเสพติดร้อยละ 4.4 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ร้อยละ 5.3 คดีชีวิตร่างกายและเพศร้อยละ 13.7

จากการที่อยู่ในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉิน ผู้กระทำความผิดก่ออาชญากรรมยากขึ้น ขณะที่การลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนขาดรายได้ พบว่าในเดือนมีนาคม 2563 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าร้อยละ 0.7 จึงต้องให้ความสำคัญกับการเข้มงวดตรวจตราเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการกระทำผิดด้านการประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

159612172861

  • อุบัติเหตุลดลง

สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 6.4 และ 20.8 ตามลำดับ แต่มูลค่าทรัพย์สินเสียหายเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0

และจากการจำกัดการเดินทาง ห้ามจำหน่ายสุรา การล็อคดาวน์ของจังหวัด ส่งผลให้เทศกาลสงกรานต์ปี 2563 เกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 60.8 และ 56.7 ตามลำดับ

159612174170

  • การร้องเรียนผ่าน สคบ. และ กสทช. ลดลง

สคบ. ได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 6.4 แม้ว่าจะมีการร้องเรียนในประเด็นการจองตั๋วเครื่องบิน หรือสายการบินเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการยกเลิกเที่ยวบิน เช่นเดียวกับการร้องเรียนผ่าน กสทช. ที่ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 36.6 โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ

นอกจากความเคลื่อนไหวสำคัญแล้ว ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังรายงานด้วยว่า ภาวะที่น่ากังวลสำหรับสังคมที่จะตามมา คือ

  • การเลิกเรียนกลางคัน : ความเสี่ยงของอนาคตเยาวชนไทย

สถานการณ์เด็กและเยาวชนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่พบว่าจะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยนักเรียนที่เข้าศึกษาประถมศึกษาปีที่ 1 ในระหว่างปีการศึกษา 2546–2548 มีนักเรียนกว่าร้อยละ 20 ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.ต้น) และมีนักเรียนกว่าร้อยละ 31 หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายหรือปวช. และร้อยละ 38 หลุดออกจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษา สาเหตุของการหลุดออกนอกระบบการศึกษา

จากข้อมูลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบความยากจนถือเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยหลุดออกนอกระบบการศึกษามีมากกว่า 670,000 คน รวมทั้งยังมีสาเหตุอื่นๆ อาทิ ปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาแม่วัยใส การที่เด็กต้องดูแลคนป่วยคนพิการที่อยู่ในบ้าน ปัญหาการเจ็บป่วย รวมถึงการย้ายภูมิลำเนาตามผู้ปกครอง

การเคลื่อนไหวทางสังคมไทยที่สำคัญในไตรมาส 1 ปี 2563 นี้แม้จะมีอัตราลดลงในหลายๆ ด้าน แต่ก็ต้องเผื่อใจรอดูรายงานในไตรมาส 2 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยตรงว่าเป็นเช่นไร