ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์"ราคาน้ำมัน" 27-31 ก.ค. 63 และสรุปสถานการณ์ฯ 20-24 ก.ค. 63

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์"ราคาน้ำมัน" 27-31 ก.ค. 63 และสรุปสถานการณ์ฯ 20-24 ก.ค. 63

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มอ่อนตัว จากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งสูง รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ – จีน

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38 - 43 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 40 - 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 – 31 ก.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบกดดันความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ตลาดมีความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีความรุนแรงขึ้น หลังสหรัฐฯ มีคำสั่งให้จีนปิดสถานกงสุลในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ที่น่าพอใจ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน หลังจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยองค์การอนามัยโลกเปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ณ วันที่ 22 ก.ค. 63 พุ่งสูงกว่า 14.8 ล้านราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสูงกว่า 6 แสนราย โดยสหรัฐฯ ครองอันดับหนึ่งของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ทำให้อุปสงค์น้ำมันโลกยังคงถูกจำกัด
  • ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีความรุนแรงขึ้น หลังสถานทูตจีนในพม่ากล่าวหาว่าสหรัฐฯ ใส่ร้ายและยุแยงให้จีนกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตกกันจากประเด็นทะเลจีนใต้และฮ่องกง
  • นอกจากนี้ สหรัฐฯ มีคำสั่งให้จีนปิดสถานกงสุลในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส ภายใน 72 ชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกัน ทางด้านจีนแถลงตอบโต้ว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายด้านการทูต ขอให้สหรัฐฯ ถอนการตัดสินใจที่ผิดพลาด มิเช่นนั้นจีนจะตอบโต้กลับด้วยความเท่าเทียม
  • ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.9 ล้านบาร์เรล ไปแตะที่ระดับ 536.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันที่อ่อนตัวลง เนื่องจากสหรัฐฯ พบยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย EIA รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 100,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบในสัปดาห์ถัดไปจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน  
  • สหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนวงเงินกว่า 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อพื้นฟูเศรษฐกิจของชาติสมาชิกหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัว
  • ตลาดได้รับแรงหนุนหลังผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กับกลุ่มอาสาสมัคร 1,077 คน ในเบื้องต้นพบว่ามีความปลอดภัย และสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้สำเร็จ แม้ว่าจะต้องทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพจริง แต่ผลการทดลองโดยรวมถือว่าเป็นที่น่าพอใจ
  • นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีหวังเรียกคะแนนเสียงคืน โดยแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย และเน้นเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม พร้อมทั้งแถลงว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นอีก ก่อนจะดีขึ้นได้ในภายหลัง
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประกาศดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 63 จำนวนผู้ว่างงานยูโรโซนเดือน มิ.ย. 63 จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 2/63 และจีดีพียูโรโซนไตรมาส 2/63    

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 – 24 ก.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 41.29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 43.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 43.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงหนุนหลังผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 มีผลเป็นที่น่าพอใจ ประกอบกับ สหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพื้นฟูเศรษฐกิจของชาติสมาชิก อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันหลังสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล หลังความต้องการใช้น้ำมันอ่อนตัวลงจากจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น