'ฮ่องกง' บนทาง 'สิงคโปร์' เข้มงวดแต่บ้านเมืองสงบ

'ฮ่องกง' บนทาง 'สิงคโปร์' เข้มงวดแต่บ้านเมืองสงบ

สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบจำกัด แต่มาตรฐานการดำรงชีวิตสูง และชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ยินดีใช้ชีวิตแบบนี้ บางคนแนะว่า ศูนย์กลางการเงินเอเชียอย่างฮ่องกง อาจลองโมเดลนี้ดูในช่วงที่ถูกจีนควบคุมเข้มงวด

ศูนย์กลางทางการเงินของโลกทั้งสองแห่ง ถูกเปรียบเทียบกันมาตลอด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ประเด็นยิ่งแหลมคมขึ้น เมื่อฮ่องกงกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่สิทธิและเสรีภาพถูกจำกัด จากการที่จีนออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ 

ฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลว่า การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยจนกลายเป็นความรุนแรงยืดเยื้อมาหลายเดือน กฎหมายนี้จะช่วยสร้างความสงบ ที่จำเป็นต่อการสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางการค้า 

ฝ่ายสนับสนุนโต้แย้งว่า สิงคโปร์เองก็มีกฎหมายที่เข้มงวดในการจัดการกับปัญหาลักษณะนี้เหมือนกัน ครอบคลุมความผิดตั้งแต่ยุยงปลุกปั่นไปจนถึงหมิ่นประมาท การเดินขบวนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากตำรวจเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จะทำได้ก็เฉพาะที่มุมสวนสาธารณะกลางเมืองที่รัฐจัดให้เท่านั้น

แต่ฝ่ายต่อต้านยืนกรานว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ยิ่งบั่นทอนความรู้สึกของผู้คน ถ้าฮ่องกงเป็นแบบเดียวกับเมืองในแผ่นดินใหญ่ ที่กฎหมายและการกำกับดูแลโปร่งใสน้อยกว่า

แอนโทนี ดาไพรัน ทนายความชาวฮ่องกง ซึ่งเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการประท้วงของฮ่องกงรอบล่าสุด กล่าวว่า  การควบคุมของจีนกำลังปล้นความเป็นอิสระ ที่ฮ่องกงจำเป็นต้องรักษาไว้เพื่อคงความเชื่อมั่นของนักลงทุน

“สิงคโปร์แตกต่างจากฮ่องกง อย่างน้อยก็ตรงที่ไม่ต้องยอมให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาแทรกแซง สิงคโปร์เป็นรัฐอธิปไตย จึงปกป้องผลประโยชน์ของรัฐได้เต็มที่ ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากผลประโยชน์ของจีน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ธรรมชาติของอธิปไตยหรือขนาด” ดาไพรันกล่าว 

กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ออกหลังจากเกิดการประท้วงในฮ่องกงยืดเยื้อหลายเดือนเมื่อปีก่อน กฎหมายพุ่งเป้าจัดการการล้มล้างรัฐบาล ยุยงปลุกปั่น ก่อการร้าย  และการสมคบคิดกับต่างชาติ

แม้กฎหมายเข้มงวดของสิงคโปร์ถูกวิจารณ์โดยนักสิทธิมนุษยชน  แต่คนสิงคโปร์กลับยอมทน จึงรอดพ้นจากการถูกจับตาของชาวโลก 

“สิงคโปร์เลือกอยู่ถูกด้านในตลาดโลก โดยเฉพาะกับคนที่มีกำลังซื้อสูงอย่างคนอเมริกัน” ไมเคิล บาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิงคโปร์จากมาหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สในออสเตรเลียให้ความเห็น 

ในฮ่องกง หลายคนมีปฏิกิริยาตอบโต้กฎหมายที่จีนบังคับใช้กับตนอย่างโกรธแค้นและไม่เชื่อฟัง 

ชาติตะวันตกต่างวิจารณ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลจีนกำลังกระชากอิสรภาพของฮ่องกงทิ้ง

หลายประเทศระงับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีนแล้วเพราะเป็นห่วงเรื่องกฎหมายดังกล่าว

“รัฐบาลปักกิ่งผลักให้อเมริกาต้องตัดฮ่องกงออกจากตลาด” บาร์กล่าว

ถ้าว่ากันด้วยหลักกฎหมาย เหล่านักวิเคราะห์ระบุว่า ตอนนี้บริษัทต่างชาติรู้สึกว่าดำเนินการในสิงคโปร์ปลอดภัยกว่าในฮ่องกง

กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ทำลายนิติกำแพงกั้นระหว่างฮ่องกงกับศาลจีนที่พรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมไปเสียสิ้น 

“แล้วจะมีบริษัทต่างชาติหน้าไหนล่ะ กล้าฟ้องร้องเอาความกับบริษัทที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ หรือบริษัทเอกชนที่ทรงอิทธิพล” เบน แบลนด์ นักวิเคราะห์การเมืองจากสถาบันโลวี กลุ่มคลังสมองออสเตรเลียแสดงทัศนะ 

ไม่เพียงเท่านั้น สิงคโปร์ยังสถาปนาตัวเองเป็นศูนย์กลางการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการยุติความขัดแย้งระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้องนอกศาล

แต่ถึงเวลานี้ ก็ยังไม่ได้มีสัญญาณว่าบริษัทแห่หนีออกจากฮ่องกงตามที่มีคนคาดหมายว่า สิงคโปร์จะได้ประโยชน์

"ฮ่องกงอาจเจอการค่อยๆ ไหลออกของธุรกิจ แต่คงไม่ถึงกับหนีไปแบบทะลักทะลาย  แต่การไหลออกอาจเร็วขึ้นหากรัฐบาลจีนแทรกแซงฮ่องกงหนักกว่านี้” แบลนด์กล่าวทิ้งท้าย