ปตท.เร่ง 'แอลเอ็นจีชิปเปอร์' เสริมศักยภาพธุรกิจไฟฟ้า

ปตท.เร่ง 'แอลเอ็นจีชิปเปอร์' เสริมศักยภาพธุรกิจไฟฟ้า

“ปตท.- จีพีเอสซี” คาด 2-3 เดือน ได้ข้อสรุปเลือกรูปแบบยื่นขอใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจี รายใหม่ หวังเสริมศักยภาพการแข่งขันธุรกิจไฟฟ้า ชูจุดแข็งขับเคลื่อนร่วมกันทั้งกลุ่ม

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ภายใน 2-3 เดือนนี้ จะมีความชัดเจนการสรุปเลือกวิธีการประสานความร่วมมือในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) หลังจากได้หารือกับหน่วยธุรกิจก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) อย่างใกล้ชิด เพื่อเลือกวิธีการที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดระหว่าง จีพีเอสซี และปตท. ในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) รายใหม่ ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ว่าจะเป็นไปได้ในรูปแบบใด

ทั้งนี้ จีพีเอสซี มีปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ ที่ถือว่า มีนัยสำคัญ ที่สามารถแยกออกจาก Pool หลักได้ หรือ เป็นปริมาณก๊าซฯ ในส่วนเกินจากที่มีการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯจาก ปตท. ขณะเดียวกัน บริษัท ยังมีในส่วนของโรงไฟฟ้าประเภท SPP ที่ใกล้จะหมดอายุ (SPP Replacement) อีก 7 สัญญา กำลังผลิตรวมประมาณ 600 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะต้องจัดหาเชื้อเพลิงใหม่ ก็เป็นโอกาสที่จะจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาป้อนได้ แต่ก็ต้องรอดูนโยบายของภาครัฐจะกำหนดสูตรราคาก๊าซฯอย่างไรด้วย เพราะในส่วนนี้ จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ประมาณ 30% ของกำลังการผลิตด้วย

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.มีศักยภาพที่จะจัดหา LNG เพื่อเสริมจุดแข็งให้กับ จีพีเอสซี อยู่แล้ว และปัจจุบัน ปตท.ก็เป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็คงประสานงานร่วมกันเพื่อดูรูปแบบดำเนินการที่เหมาะสมที่สุด

“ปตท.เราขับเคลื่อนกันเป็นกรุ๊ป ก็ต้องไปดูว่ารูปแบบขับเคลื่อนเป็นกรุ๊ป มันจะมีรูปแบบอย่างไร แต่โดยหลักการผู้ประกอบการไฟฟ้าแต่ละรายคงต้องอยู่บนฐานที่ทัดเทียมกัน”

ส่วนสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศ ล่าสุด เดือน ก.ค. พบว่า ทั้งดีมานด์และซัพพลายเริ่มกลับมา หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในช่วง เดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซฯในภาคอุตสาหกรรม ลดลงประมาณ 10-15% จากที่ใช้อยู่ประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯในภาคไฟฟ้าลดลงประมาณ 2-3% จากที่ใช้อยู่ในระดับประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยขณะนี้ ปตท. กำลังรวบรวมข้อมูลความต้องการใช้ก๊าซฯที่ชัดเจนอีกครั้ง 

เบื้องต้น ปีนี้ ปตท. คาดว่า อาจจะนำเข้า LNG ต่ำว่าสัญญาที่ต้องรับก๊าซฯปริมาณ 5.2 ล้านตัน จากปีที่ผ่านมานำเข้าเกือบ 5 ล้านตัน ซึ่งก็ต้องติดตามดูสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซฯในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580(PDP 2018) จะเห็นว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศในระยะยาวยังเพิ่มขึ้น ซึ่งปตท. ก็พร้อมแข่งขันถ้ารัฐมีกลไกเปิดเสรี และจะขับเคลื่อนร่วมกันไปทั้งกลุ่ม

นายวุฒิกร กล่าวอีกว่า สำหรับ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่1) หรือ มาบตาพุด ระยะที่ 3 กลุ่ม ปตท.ร่วมลงทุนกับกลุ่ม กัลฟ์ฯ ในสัดส่วนประมาณ 30% นั้น จะทำให้ไทยมีคลังรองรับปริมาณ LNG เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย และผลักดันไปสู่เป้าหมาย การเป็นศูนย์กลางซื้อขาย LNG ในภูมิภาค (LNG HUB) ตามนโยบายภาครัฐ และจะได้ใช้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆอย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือมีต้นทุนพลังงานที่ถูกลง แต่ในเรื่องของราคาก๊าซฯ ก็ยังเป็นไปตามทิศทางราคาในตลาดโลก

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่เป็นโครงการร่วมลงทุนภายใต้ กลุ่มกิจการค้า GPC (ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (บริษัทในกลุ่ม ปตท.),บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF และ China Harbour Engineering Company Limited) มูลค่าลงทุนราว 1.29 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนการถมทะเล